อะไรจะเกิดขึ้น ? หากไม่มีข้อตกลง “เบร็กซิต”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. บรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป (อียู) 27 ชาติ ในการประชุมสุดยอดอียูวาระพิเศษที่กรุงบรัสเซลส์ ร่วมลงนามรับรองความตกลงกว่า 500 หน้าว่าด้วยกระบวนการเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ (เบร็กซิต) จากการเจรจาระยะตลอด 20 เดือนที่ผ่านมา

แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการ เพราะต้องผ่านการลงมติด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก่อน

เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกคัดค้านอย่างหนักก่อนเข้าร่วมประชุม ขนาดมีการยื่นคำขาดให้เปลี่ยนหัวขบวนที่คัดค้านร่างความตกลงของเมย์ คือ ลูกพรรคอนุรักษนิยมของเธอ ทั้งกลุ่มที่เคยหนุนและเคยต้านการออกจากอียู กับ ส.ส.จากพรรคดียูพีในไอร์แลนด์เหนือผู้สันทัดการเมืองอังกฤษ และ ส.ส.รัฐบาล “ซาราห์ วอลลาสตัน” ฟันธงว่าโอกาสที่ความตกลงนี้จะผ่านสภานั้นแม้แต่ “ริบหรี่” ยังเป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นมี 2-3 ทาง หนึ่งคือ รัฐบาลอังกฤษดิ้นขอเปิดเจรจาใหม่กับอียูในประเด็นที่ถูกค้าน ไม่ก็ตัดสินใจปล่อยให้ทุกอย่าง “เป็นไปตามบุญตามกรรม” คือออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง หรือ “โนดีลเบร็กซิต” และสุดท้ายก็คือ เมย์ ลาออก จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจต่อใน 3 ทางนี้ เดาว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดคือ “โนดีลเบร็กซิต” ซึ่งนักวิชาการพูดกันเยอะว่า “เบร็กซิตว่าแย่แล้ว ที่แย่กว่าคือโนดีลเบร็กซิต”

มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (บีโออี) ระบุไว้ว่า การออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง การเปลี่ยนผ่านจะส่งผลให้เกิดภาวะ “ช็อกเชิงลบขนาดใหญ่” กับเศรษฐกิจ ซึ่งรุนแรงพอ ๆ กับภาวะ “วิกฤตน้ำมัน” ที่อังกฤษเคยเผชิญมาในทศวรรษ 1970ไอเอ็มเอฟ ทำนายว่าขนาดเศรษฐกิจของอังกฤษจะหดตัวลง แต่สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ พูดว่า ถ้าไม่มีข้อตกลงในปีหน้า กับปี 2020 เศรษฐกิจอังกฤษจะโตเพียง 0.3% เทียบกับถ้ามีข้อตกลงจะขยายตัว 1.9% และปีถัดไปจะขยายตัว 1.6%

ด้านอังกฤษบริษัทส่งออกจะเผชิญภาษีนำเข้าสูงกว่าเดิม 5% แต่บางเซ็กเตอร์ เช่น รถยนต์อาจจ่ายสูงถึง 10%ระเบียบพิธีการด้านศุลกากรเพื่อการนำเข้าสินค้าเปลี่ยนใหม่ และอาจก่อให้เกิดการล่าช้าในการตรวจสอบสินค้าเพื่อกำหนดพิกัดอัตราภาษี

ผลกระทบที่ชัดสุดจะเป็นท่าเรือรัฐบาลอังกฤษถึงกับเตรียมถนนมอเตอร์เวย์ 2 สาย กับสนามบินเพื่อใช้เป็นที่จอดรถบรรทุกสินค้า ที่รอขนถ่ายหลังกระบวนการทางศุลกากร ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเองก็เตรียมมาตรการหลายอย่างไว้รองรับการวิจัยของชาร์เตอร์ด อินสติติวต์ ออฟ โพรเคียวร์เมนต์ แอนด์ ซัพพลายประเมินว่า ในทุก ๆ 10 บริษัทของอังกฤษ มีอย่างน้อย 1 บริษัทที่อาจถึงขั้นล้มละลายถ้าสินค้าติดอยู่ที่ด่านศุลกากรเพียง 10-30 นาที

ขณะที่โรงงานผลิตต้องกักตุนชิ้นส่วนในการผลิต ขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้ผู้ผลิตยากักตุนตัวยาไว้เพิ่มจากระดับปกติอีก 6 สัปดาห์

ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลัง ยอมรับว่า รัฐบาลเตรียมงบประมาณจำนวนหนึ่งเผื่อกรณี “โนดีลเบร็กซิต” แต่ย้ำว่า ในระยะยาวที่เคยสัญญากันไว้ว่าจะไม่ใช้มาตรการรัดเข็มขัดอาจต้องคืนคำพูด ขณะที่บีโออีเตือนทุกฝ่ายว่า อย่าคาดหวังว่าจะมีการเข้าไปอุ้มภาคเอกชนโดยเร็ว โดยชี้ว่าค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้โอกาสที่จะช่วยด้วยการลดดอกเบี้ยทำไม่ได้

รอยเตอร์สสำรวจความเห็นของนักยุทธศาสตร์ตลาดเงินเมื่อ 1 พ.ย.ระบุว่า ถ้าไม่มีข้อตกลงออกมาจากอียู ค่าเงินปอนด์อ่อนอีก 6% ต่างจากหากมีความตกลงเพราะค่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นราว 5.5% ซึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วอ่อนค่าลงไปแล้ว 13% นับตั้งแต่รู้ผลประชามติในปี 2016

ไซมอน เดอร์ริค หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ตลาดเงินตราของบีเอ็นวาย เมลลอน เตือนว่า ค่าเงินปอนด์อาจจะอ่อนลงมาอยู่ที่ 1.10 ต่อดอลลาร์เลยทีเดียว