ผ่ามุมมอง มูฮัมเหม็ด ยูนุส ต่อสู้ความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล

“ผมไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก เพียงแต่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจุดเริ่มต้นของธนาคารกรามีน ยึดหลักคิดว่าคนยากจนต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนก่อนเสมอ” หนึ่งในคำกล่าวของ ศ.ดร.มูฮัมเหม็ด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนในประเทศบังกลาเทศ และเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2006 บนเวทีสัมมนาหัวข้อ “Social Business in The Digitized World” จัดโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา

ศ.ดร.มูฮัมเหม็ด ยูนุส กล่าวว่า ปัจจุบันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยชัดเจนขึ้น เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงกับทุก ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจน ยังได้พบกับสื่อมวลชนในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และกล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า ปีที่ผ่านมามีเศรษฐีระดับพันล้านชาวจีนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน และในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี้ จะยิ่งทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง ตอกย้ำว่ากลุ่มคนที่อยู่ระดับล่างสุดจะไม่ได้รับอะไรเลย ตราบใดที่ความมั่งคั่งยังกระจุกตัว

หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ศ.ดร.ยูนุสได้กล่าวถึงความล้มเหลวของระบบธนาคารว่า เป็นสถาบันการเงินที่มักปฏิเสธการให้บริการแก่คนที่มีความต้องการสินเชื่อมากที่สุด ซึ่งก็คือ “คนยากจน” ไม่ได้เปิดให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างแท้จริง แต่ธนาคารให้เงินกู้เฉพาะคนที่มีฐานะเท่านั้น

ศ.ดร.ยูนุสเล่าว่า ในยุค 70 เป็นช่วงที่บังกลาเทศเพิ่งผ่านพ้นสงครามประกาศอิสรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก มีประชาชนยากจนจำนวนมาก สถานการณ์ตอนนั้นบีบคั้นให้ตนตัดสินใจทิ้งอาชีพอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา และบินกลับมาบ้านเกิดเพื่อช่วยประเทศ หรือทำอะไรสักอย่างที่พอจะทำได้

“ผมกลับมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกครั้งในบังกลาเทศ ทำให้ได้เห็นโลกในมุมที่เป็นจริงมากขึ้น เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจนในประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้หญิงที่ถูกกดขี่ด้วยสถานะทางสังคม ทำให้ผมรู้ว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้เรียนมานั้นเป็นเพียง ‘คำพูดที่ไม่มีความหมาย’ (empty words) เพราะไม่สามารถนำมาใช้และแก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง ๆ”

จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจก่อตั้ง “ธนาคารกรามีน” หรือธนาคารเพื่อคนจน ศ.ดร.ยูนุสกล่าวว่า โลกจำเป็นต้องมีระบบการเงินแบบใหม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของ “สินเชื่อแบบไมโครเครดิต” สำหรับคนยากจน การปล่อยสินเชื่อยึดหลักการเพียง 2 ข้อ คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และ 2) จะไม่มีการเรียกร้องหลักทรัพย์ใด ๆ เพื่อค้ำประกันการกู้ยืม แต่จะใช้ความเชื่อใจ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งดร.ยูนุสเรียกว่า “หลักทรัพย์ทางสังคม” (social colleateral)

“นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งธนาคารกรามีน ในปี 1976 ผมได้พิสูจน์แล้วว่า คนยากจนสามารถเก็บเงิน กู้เงิน และชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในปีที่ผ่านมา จำนวนคนยากจนในบังกลาเทศลดลงเหลือ 31% ของประชากร จากเดิมที่มีสัดส่วนกว่า 56% ซึ่งธนาคารกรามีนไม่ได้ทำแค่การปล่อยกู้ แต่ยังมีทีมที่ช่วยพัฒนาความสามารถให้ลูกหนี้ เช่น คอร์สฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ สร้างทักษะการบริหารและวินัยทางการเงิน รวมถึงออกข้อบังคับการกู้เงิน ให้ลูกหนี้ต้องออมเงิน 5% ของเงินกู้ เพื่อเป็นกองทุนประกันชีวิต หรือกองทุนบำนาญต่าง ๆ

ศ.ดร.ยูนุสกล่าวว่า การหลุดพ้นจากความยากจนขั้นแรกเราต้องลงทุนกับพื้นฐานชีวิตก่อน เช่น มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ, น้ำดื่มที่สะอาด หรือมีเงินออม จากนั้นจึงเป็นการคิดต่อยอดเงินที่มี ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม การเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรามีนจึงเป็นการสร้างโอกาสให้หลุดพ้นจากความยากจน มากกว่าเป็นเพียงการปล่อยเงินกู้ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ประชากรโลกราว 4,000 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ยังจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจนตามการประเมินของเวิลด์แบงก์ หมายความว่ามีประเทศมากมายในโลกที่ยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียและแอฟริกา และนั่นคือโจทย์ของเรา โดยการเปิด “ยูนุส โซเชียล บิซิเนส เซ็นเตอร์” ใน 41 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย 2 แห่ง คือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีเอเชีย จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างความนึกคิดและเป็นไกด์ไลน์ออกแบบชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะเติบโตไปเป็นอนาคตของประเทศ และสอนให้รู้จักว่าอะไรคือธุรกิจเพื่อสังคมโดยแท้

แนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” ของ ศ.ดร.ยูนุสนอกจากจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทแล้ว ยังช่วยส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคม และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งสร้างแรงบันดาลใจ

นอกจากนี้ ศ.ดร.ยูนุสยังกล่าวถึงโลกยุคดิจิทัลว่า มีส่วนช่วยขยายการรับรู้และสร้างโครงข่ายของธุรกิจเพื่อสังคมให้กว้างขึ้น และสิ่งที่ยูนุสเซ็นเตอร์กำลังทำก็คือแนวคิด social business intelligence monitor ติดตามพฤติกรรมของผู้คนว่าชอบค้นหาหรือสนใจข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถหาช่องทาง

จับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนากลไกให้ธุรกิจเพื่อสังคมไปได้ไกลกว่านี้ ในวันที่ 28-29 มิ.ย.ปีนี้ ที่เมืองดากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ จะมีการจัดงาน “Social Business Day” เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับยูนุสเซ็นเตอร์จากทั่วโลก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ ศ.ดร.ยูนุสทิ้งท้ายว่า แม้เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับชีวิตของผู้คน แต่ก็มีอันตราย พร้อมกับยกตัวอย่างของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่วันหนึ่งอาจเข้ามามีบทบาทแทนที่แรงงานมนุษย์มากขึ้น ๆ ซึ่งเราต้องเร่งทำความเข้าใจเรียนรู้ และหาทางออกให้กับปัญหานี้ต่อไป