“ญี่ปุ่น” ฉลองสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ในรัชสมัยใหม่เรียกว่า “เรวะ”

“เดอะ เจแปน ไทมส์” รายงานในวันนี้ (1 เม.ย.) โยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศคำเรียกขานรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นว่า “เรวะ” อันถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะเริ่มต้นสืบราชบังลังก์ญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ

นาย ซูกะ ได้แสดงป้ายตัวอักษรคันจิคำว่า “เรวะ” ต่อหน้าสาธารณชน โดยคำดังกล่าวมาจาก “มังโยชู” ซึ่งเป็นบทกวีเก่าแก่ของญี่ปุ่น โดยอักษรตัวแรกหมายถึง “ความโชคดี” ขณะที่อักษรตัวที่สองหมายถึง “สันติ” หรือ “ประสานสามัคคี”

นับเป็นครั้งแรกที่ตัวอักษรที่ได้รับเลือกมาเป็นคำเรียกขานศักราชหรือ “เก็งโก” มาจากวรรณกรรมของญี่ปุ่น ทั้งนี้ รัชสมัยที่ผ่านมามักจะเป็นการใช้คำจากวรรณกรรมของจีนทั้งสิ้น

บทกวีดังกล่าวกล่าวถึง “อุเมะ” ดอกบ๊วยญี่ปุ่นที่ผลิบานเต็มที่หลังจากที่ผ่านพ้นฤดูหนาว และกำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ทั้งนี้ รัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นจะเริ่มต้นในวันที่ 1 พ.ค. เมื่อเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จประทับบนราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ สละราชสมบัติในวันก่อนหน้านั้น 1 วัน

การเริ่มต้นรัชสมัยเรวะ จะถือเป็นการสิ้นสุดรัชสมัย “เฮเซ” ที่ดำเนินมาถึง 30 ปี นับแต่วันที่ 8 ม.ค.1989 เป็นต้นมา

ขณะที่นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลเลือกใช้อักษรคันจิ เนื่องด้วยเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรุ่งเรืองที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างงดงาม และหล่อเลี้ยงผู้คนให้มารวมกัน” เขายังระบุด้วยว่า “มังโยชู” ซึ่งได้รวบรวมไว้กว่า 1,200 ปีมาแล้ว ได้บรรจุบทกวีของผู้คนที่มีสถานภาพทางสังคมต่างๆ ทั้งจักรพรรดิ ชนชั้นสูง นักรบ ไปจนถึงชาวนาสามัญชน

“ผมหวังว่าคำเรียกขานรัชสมัยใหม่จะหยั่งรากในสังคมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน”

รัชสมัยใหม่นี้ถือว่าเป็นรัชสมัยที่ 248 ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งใช้ระบบการระบุปีของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ค.ศ.645 โดยที่ในยุคใหม่คำเรียกขานแต่ละรัชสมัยจะนับตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิของแต่ละพระองค์

ความแตกต่างของ “รัชสมัยเรวะ” จากทั้ง 4 รัชสมัยก่อนหน้านั้น ได้แก่ เฮเซ โชวะ ไทโช และเมจิ เนื่องจากมีการประกาศคำเรียกขานรัชสมัยใหม่ ในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่

ในเดือน ส.ค. 2016 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงกระทำสิ่งที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดยทรงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติเนื่องจากทรงพระชราภาพ ซึ่งต่างจากสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อนๆ ที่ครองราชย์จนกระทั่งสวรรคต พระราชดำริของพระองค์นำไปสู่การเตรียมการสำหรับการสละราชสมบัติครั้งแรกของพระราชวงศ์ญี่ปุ่นในรอบ 200 ปี

ทั้งนี้ การเลือกคำเรียกขานของรัชสมัยใหม่ ยังเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งคำเรียกขานแต่คำต่างมีนัยสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ทั้งในทางปฏิบัติและในทางจิตวิทยา “เก็งโก” จึงเป็นภาพสะท้อนของจิตวิญญาณของปวงชนชาวญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้จะมีการคาดเดามากมายว่าจะมีการเลือกใช้คำเรียกขานใดบ้าง

คำเรียกขานรัชสมัยจะถูกใช้เป็นหลักในการระบุช่วงเวลาต่างๆ ทั้งในเอกสารราชการ และระบบคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่น เช่น รัชสมัยปัจจุบัน คือ “เฮเซ 31” ซึ่งตรงกับปี 2019 หมายความว่าการเปลี่ยน “เก็งโก” จะส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลท้องถิ่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ และผู้ผลิตปฏิทินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการปเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง