ส่องเทรนด์ Cashless Society “อินเดีย” ตลาดใหม่น่าจับตา

การก้าวเท้าออกจากบ้านพร้อมด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวโดยไม่ต้องพกกระเป๋าเงินในโลกปัจจุบันแทบจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว สำหรับบางประเทศที่กำลังก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” หรือ “cashless society” ที่ผู้คนสามารถใช้จ่ายอย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยปลายนิ้ว และยังโปร่งใสสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน คือ “สวีเดน” ที่สามารถก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดเกือบ 100% ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสร้างความคุ้นเคยและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายดิจิทัล

ปัจจุบันสวีเดนมีการใช้เงินสดน้อยกว่า 20% ในการใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป ตามรายงานของบีบีซีที่อ้างถึงสถิติของธนาคารกลางแห่งสวีเดน ทั้งยังตั้งเป้าจะเป็นสังคมไร้เงินสดให้ได้ 100% ภายในปี 2023

นอกจากจีนที่ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างก้าวกระโดด อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ และอาจไม่มีใครนึกถึงก็คือ “อินเดีย” ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามธนบัตรปลอม การทุจริตคอร์รัปชั่น การเลี่ยงภาษี และการฟอกเงิน

ทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจยกเลิกการใช้งานธนบัตร ชนิดราคา 500 และ 1,000 รูปี (แบบเก่า) ในปี 2016 ซึ่งสร้างความวุ่นวายให้กับระบบเศรษฐกิจอินเดียอย่างมหาศาลในระยะแรก เนื่องจากธนบัตรทั้งสองชนิดราคามีผู้ใช้งานมากที่สุดถึง 86% ของธนบัตรรูปีที่หมุนเวียนในระบบ

Advertisment

พร้อมกันนี้ รัฐบาลอินเดียพยายามผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มโครงการ “ดิจิทัลอินเดีย” ในปี 2015 เพื่อขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในทุกพื้นที่ของอินเดีย และได้เริ่มใช้ระบบ “unified payments interface” (UPI) ในปี 2016 ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่อข้อมูลบัญชีธนาคารของผู้ใช้บริการเพื่อการโอนเงินและการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ โดยระบบดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการ “National Payments Corporation of India” 

“เคอร์ราม คาลิล จามาลี” หัวหน้าฝ่ายดูแลพันธมิตรของฝ่ายดูแลระบบการชำระเงิน next billion users (NBU) ของ “กูเกิล” ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาสังคมไร้เงินสดของอินเดีย ในเวทีเสวนา “Less cash or cashless ?-The Revolution of Digital Payments” ในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

เคอร์รามระบุว่า ระบบ UPI ของรัฐบาลอินเดีย มีส่วนสำคัญมากที่ผลักดันให้อินเดียก้าวสู่สังคมไร้เงินสด เนื่องจากระบบดังกล่าวอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีธนาคารของผู้ใช้บริการได้ ทำให้การให้บริการทางการเงินออนไลน์ของอินเดียขยายตัวมากขึ้น

ปัจจุบันการแข่งขันให้บริการทางการเงินดิจิทัลในอินเดียเป็นไปอย่างดุเดือด โดยมีผู้แข่งขันในการให้บริการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่อย่าง กูเกิลเพลย์ (Google Pay), โฟนเป (PhonePe) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินของ “ฟลิปคาร์ต” (Flipkart) บริษัทลูกของวอล-มาร์ต และ “Paytm” สตาร์ตอัพของอินเดีย โดยผู้ให้บริการเหล่านี้ต่างเข้าร่วมในระบบ UPI

Advertisment

เคอร์รามระบุว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้จริง คือ การฟรีค่าบริการ ความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ อีกทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดกระบวนการคิดแบบไร้เงินสด (cashless mindset) ด้วยการสร้างประสบการณ์ในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ก็จะทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบันอินเดียจะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเพียง 1 ใน 4 ของประชากร แต่อินเดียจะกลายเป็นตลาดการเงินดิจิทัลขนาดยักษ์ได้ เนื่องจากจำนวนประชากรมหาศาลที่จะหันมาใช้จ่ายในระบบดิจิทัล โดยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) บริษัทด้านการเงินของอังกฤษ คาดว่าการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ของอินเดีย จะเพิ่มขึ้นอีก 20% ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าธุรกรรม 135,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

อย่างไรก็ตาม สังคมไร้เงินสดในอินเดียจะเติบโตขึ้น แต่อาจไม่สามารถก้าวได้เร็วเหมือนในสวีเดน เพราะยังมีประชากรจำนวนมากที่ยังคุ้นชินกับการใช้จ่ายด้วยเงินสดอยู่เช่นเดิม