“ฟู้ดดีลิเวอรี่” อินเดียระอุ รับเทรนด์ Chilling Culture

สมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” (food delivery) ในอินเดีย กำลังรุนแรงขึ้น ด้วยปัจจัยดึงดูดในแง่ของประชากรที่มีจำนวนมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมความสะดวกสบายมากขึ้น

ปัจจุบันเจ้าตลาดธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในอินเดีย ยังคงเป็น 2 สตาร์ตอัพรายใหญ่ ได้แก่ “Swiggy” และ “Zomato” โดยรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ระบุว่า สตาร์ตอัพสัญชาติอินเดียทั้ง 2 ราย ยังคงครองตลาดในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เกือบ 30%

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ศิริฮาร์ชา มาเจตี” ซีอีโอของ Swiggy ได้แถลงว่า หลังจากเปิดตัวบริการ “Swiggy Go” เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในเมืองบังคาลอร์เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและรับบริการดีลิเวอรี่อาหารจาก “Swiggy Stores” ซึ่งมีการตอบรับค่อนข้างดี อัตราการเติบโตตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ใน “ระดับก้าวกระโดด”

โดยในปี 2020 บริษัทมีแผนจะขยายบริการ Swiggy Go ในอีก 300 เมืองทั่วอินเดีย เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง กับบริการความสะดวกสบาย ด้วยการปรับโมเดลดีลิเวอรี่ที่เป็น “มากกว่าอาหาร” โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ”รับ-ส่งสินค้า” อื่น ๆ เช่น เสื้อผ้าจากร้านซักรีด, กุญแจ, ข้าวกล่อง หรือแม้แต่การใช้บริการให้ไปซื้อแชมพู ทั้งระบุว่า ในปีหน้าบริษัทจะขยายสาขา Swiggy Stores ในเมืองอื่นด้วย มีเป้าหมายอยู่ที่ 260 สาขาทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่เปิดร้านไม่กี่สาขาในเมืองคุร์เคาน์ ในรัฐหรยาณา, เมืองไฮเดอราบาด และเมืองบังคาลอร์

“บริการพิเศษของ Swiggy Go จะเพิ่มจุดแข็งให้กับแบรนด์ และหวังว่าจะสามารถทิ้งห่างคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันได้ ขณะที่ปัญหาการจราจรในอินเดียที่รุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดไอเดียการตลาดนี้ขึ้น” ซีอีโอ มาเจตี กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้ Uber Eats กำลังแสดงความสนใจในโมเดลการให้บริการดีลิเวอรี่พิเศษของเราเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจน

Advertisment

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา “อูเบอร์” เปิดเผยถึงแผนการขยายธุรกิจ Uber Eats หลายเมืองในอินเดีย จากที่ปัจจุบันให้บริการเฉพาะตามเมืองใหญ่ 38 เมือง นายราจ แบร์รี หัวหน้าฝ่าย Uber Eats ในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า สนใจที่จะขยายธุรกิจไปยังเมืองเล็ก ๆ ที่การแข่งขันยังไม่สูง แต่บริษัทอาจต้องร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นที่ให้บริการในธุรกิจที่คล้ายกัน เพื่อให้สามารถเจาะตลาดอินเดียได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ เว็บไซต์สำนักข่าว livemint ของอินเดีย รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา “อเมซอน อินเดีย” เปิดเผยว่า เตรียมจะเปิดตัวบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ในเมืองบังคาลอร์เป็นแห่งแรก ตามด้วยเมืองมุมไบ และเดลี เพราะอัตราการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางในอินเดียสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยบริษัท RedSeer Consulting บริษัทวิจัยการตลาดในเมืองบังคาลอร์ กล่าวว่า ในปี 2018 ยอดการสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในอินเดีย เพิ่มขึ้นถึง 173% เทียบกับปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเปิดรับ “วัฒนธรรมความสะดวกสบาย” (chilling culture) เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

รายงานข่าวระบุว่า ธุรกิจจัดส่งอาหาร “ฟู้ดแพนด้า” ซึ่งจับมือกับ Ola บริการเรียกรถเช่าเจ้าใหญ่ของอินเดียเตรียมจะเปิดตัวบริการดีลิเวอรี่แบบใหม่ โดยปรับปรุงโมเดลการจัดส่งอาหารเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงระบบได้ง่ายกว่าเดิมภายในปีนี้

Advertisment

“บริษัทอาจจะปรับปรุงแพลตฟอร์มการสั่งอาหารของฟู้ดแพนด้า ให้สามารถเชื่อมต่อกับแอป Ola ได้อย่างสะดวก เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าจาก Ola ไปสู่ครัวออนไลน์ (cloud kitchens) ของฟู้ดแพนด้าได้มากขึ้น” เจ้าหน้าอาวุโสของฟู้ดแพนด้ากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายโรฮาน อการ์วาล นักวิเคราะห์บริษัทวิจัย RedSeer กล่าวว่า ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ทั้งของอินเดียและต่างชาติ มีส่วนทำลายประเพณีอันดั้งเดิมของอินเดีย เพราะบรรยากาศและความคึกคักจากย่านช็อปปิ้งและร้านอาหารกำลังเปลี่ยนไป ผู้บริโภคหันไปใช้บริการดีลิเวอรี่กันมากขึ้น

“ธุรกิจหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด หากพวกเขาไม่สามารถปรับตัวได้ ก็คือ “ดับบาวาลา” (Dabbawala) หรือคนส่งปิ่นโต ซึ่งธุรกิจนี้คึกคักที่สุดในเมืองมุมไบ และบังคาลอร์ โดยจะใช้รถจักรยานในการลำเลียงกล่องอาหารนับแสนกล่องในแต่ละวัน ขณะที่คุณสมบัติของธุรกิจดีลิเวอรี่ คือ ความเร็ว โดยจัดส่งออร์เดอร์ด้วยรถสกู๊ตเตอร์ และนี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับดับบาวาลา”

ขณะที่เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามีรายงานว่า ร้านอาหารในกรุงนิวเดลีราว 1,000 แห่ง พากัน “บอยคอต” แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารออนไลน์ จากที่มีการคิดค่าคอมมิสชั่นในอัตราที่สูง รวมทั้งบีบให้ร้านค้าทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่เอาเปรียบร้านค้า ทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ประสบปัญหากำไรลดลง แม้ว่าจะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยร้านอาหารต่างพากันใช้แฮชแท็ก #Logout เพื่อสื่อสารความคิดนี้ออกไป