“สงครามการค้า” ครอบงำ ถก “ไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จัดประชุมประจำปีกันขึ้นตอนปลายปีทุกปี เหมือนเช่นที่มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 18 และ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ในภาวการณ์ปกติ ไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ นัดหมายผู้รับผิดชอบด้านการเงินและการคลังของชาติสมาชิก 189 ประเทศ (รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการ หรือประธานธนาคารกลาง) มารวมกันเพื่อหารือร่วมกัน เป้าหมายเพื่อวางแนวทาง สร้างวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตทางการเงินการคลัง ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยลด “ความยากจนถึงขีดสุด” และอำนวยให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของสมาชิกทั่วโลกเอาไว้

แต่ภายใต้สถานการณ์ผิดปกติอย่างเช่นในเวลานี้ ไม่ผิดไปจากที่ทุกคนคาดหมายกันไว้ ที่ประชุมร่วมไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์ ถกกันแต่ปมสงครามการค้าจนไม่เหลือเวลาสำหรับเรื่องอื่นใด

ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่าสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากถึง 90% ของทั้งโลก พร้อมอกพร้อมใจกันชะลอตัวเหมือน ๆ กันทั้งหมด ไม่หาหนทางออกเรื่องนี้ให้ได้ก่อนก็ยากที่จะทำให้การดำเนินการเรื่องอื่น ๆ รุดหน้า หรือประสบความสำเร็จได้

ในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าการประชุม คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กับ เดวิด มัลพาสส์
ประธานเวิลด์แบงก์ บอกคล้ายคลึงกันว่า การหย่าศึกกันชั่วคราวที่คาดว่าจะมีขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น อาจช่วย “บรรเทา” ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วลงได้นิดหน่อย จากที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลง 0.8% ทำให้ลดลงเพียงแค่ 0.6% ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอ ตราบใดที่สงครามการค้ายังไม่เลิกรากันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด “ความไม่แน่นอน” ที่คุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ไม่มีวันหมดไป

เดวิด มัลพาสส์ ตรงไปตรงมามากกว่านั้น เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่คาดหวังจากที่ประชุมครั้งนี้ก็คือ ทุกฝ่ายทุกประเทศต้องช่วยกันดำเนิน ความพยายาม “ทุกอย่างเท่าที่ทำได้” เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การ “รีสตาร์ต” การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก “เป็นไปได้” ขึ้นมา

ย้ำไว้ด้วยว่า นี่เป็น “เรื่องเร่งด่วน” เพราะทั่วโลก “การขยายตัวกำลังชะลอลง, การลงทุนกะพร่องกะแพร่ง, การผลิตเบาบาง และการค้าอ่อนแอลงเรื่อย ๆ”

ถ้าสถานการณ์เช่นนี้ยืดยาวออกไปเรื่อย ๆ คนยากจน 700 ล้านคน หรือ 1 คนในทุก ๆ 12 คนของประชากรทั้งโลก จะเดือดร้อนมากที่สุด

หลังการประชุม จอร์จีวา บรรดาชาติสมาชิกพากันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง และเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าลดความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางการค้าลงได้ ก็สามารถตัดทอนความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลกไปในตัว

ทุกคนเห็นตรงกันทั้งหมดว่า ความตึงเครียดทางการค้าส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนสูงขึ้น ซึ่งลุกลามต่อไปทำให้การลงทุนลดลง เศรษฐกิจชะลอลง ผู้คนตกงานมากขึ้น สุดท้ายก็วนกลับไปก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าขึ้นเป็นวัฏจักร

น่าเสียดายที่ที่ประชุมครั้งนี้กลับไม่สามารถเห็นพ้องกันถึงวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ว่านั้นแต่อย่างใด

สิ่งที่ปรากฏออกมาจากที่ประชุม เป็นแนวทางที่ถึงแม้จะเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่คลุมเครือและยากมากที่จะถือปฏิบัติ อย่างแรกที่ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ชาติสมาชิกทำก็คือ ทุกชาติต้องกดดันให้แต่ละชาติต้องดำเนินการค้าไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่ตกลงกันไว้ อย่างที่สองก็คือ ทุกชาติต้องตกลงด้วยความเต็มใจที่จะ “ขยาย” และ “ปรับปรุง” กฎเกณฑ์กติกาในด้านการค้าระหว่างประเทศให้ดีขึ้น

เป้าหมายนั้นดีแน่ และสามารถช่วยได้มากหากทุกชาติช่วยกันกดดันให้ชาติใดชาติหนึ่ง “เล่นตามกฎ” แต่คำถามก็คือในทางปฏิบัติจะทำกันอย่างไร ? หากไม่มีกรอบ มีข้อกำหนดแน่ชัด มีหรือชาติเล็ก ๆชาติหนึ่งจะอาจหาญไปกดดัน 2 มหาอำนาจที่ทำสงครามการค้าระหว่างกันได้ ?

แม้แต่ในแถลงการณ์ร่วมที่แถลงออกมาหลังการประชุม ยังจำเป็นต้องตัดข้อความที่ว่า “จะยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีอย่างแรงกล้า” ออกไปจากที่เคยปรากฏอยู่ในร่างแถลงการณ์ครั้งแรก คือ ตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีนี้

เช่นเดียวกันกับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกติกาในด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) นั้น ตอนพูดนั้นง่าย แต่จะลงมือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี มีประสิทธิภาพ ยากเย็นและเปลืองเวลาเหลือหลาย

ไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้า อย่างที่คาดหวังกัน แต่นานนับเป็นปี ๆ ได้เลยทีเดียว