คนรุ่น “มิลเลนเนียล” ขี้เหนียวอีกหนึ่งต้นตอเศรษฐกิจโลกหงอย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

เศรษฐกิจโลกนับจากวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงสุดในสหรัฐ เมื่อปี ค.ศ. 2008 หรือเกือบ 11 ปีที่แล้ว ยังมีบาดแผลเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเติบโตในระดับน่าตื่นใจได้อีกต่อไป โดยเฉพาะยุโรปนั้นยังไม่ถือว่าฟื้นตัวด้วยซ้ำ หลังจากติดเชื้อไข้ที่อเมริกาเป็นคนก่อ

ส่วนจีนที่เคยสร้างปาฏิหาริย์การเติบโตในระดับเลขสองหลัก หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ติดต่อกันหลายปี และเป็นพระเอกช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกช่วงเกิดวิกฤตในอเมริกา ปัจจุบันก็ไม่สามารถรักษาการเติบโตในระดับเดิมได้อีกต่อไป โดยล่าสุดการเติบโตเหลือเพียงระดับ 6% เท่านั้น และอาจเหลือต่ำกว่า 6% ในปีหน้า

ยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาในยุครัฐบาลทรัมป์ เปิดศึกการค้ากับจีนและยุโรปด้วยการขึ้นภาษี ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกที่ควรจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุด ก็ต้องถูกผลักกลับลงหลุมอีกครั้ง องค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่างปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าในทางต่ำลง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียง 3.2% จากเดิม 3.6% โดยหนึ่งในสาเหตุหลักก็คือ ปัญหาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งยืดเยื้อนานเกินไป

อย่างไรก็ตาม มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกซึมเซา ก็คือ คนรุ่นมิลเลนเนียล (millennials) ขี้เหนียว ออมมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ๆ นี่เป็นการวิเคราะห์ของเรย์มอนด์ เจมส์ แห่งเทวิส แมคคอร์ต

มิลเลนเนียล หมายถึง กลุ่มประชากรที่เกิดระหว่าง ค.ศ.1982-2004 หรือบางครั้งก็เรียกว่า เจเนอเรชั่น Y หรือ Gen Y บางทีก็เรียกว่า net generation เพราะเกิดมาในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตใช้อย่างแพร่หลายแล้ว ชีวิตของพวกเขาคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือจนนึกไม่ออกว่าถ้าขาดอินเทอร์เน็ตจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ชอบความอิสระ มีความเป็นตัวเองสูง สุขนิยม ไม่ค่อยอดทน ชอบโซเชียลมีเดีย ชอบการเซลฟี คนรุ่นนี้ถูกมองว่าจะเป็นพลังสำคัญของตลาดแรงงานในอนาคต รวมทั้งเป็นกำลังซื้อสำคัญ ทำให้บรรดาสินค้าและบริการต่าง ๆ หมายตาคนกลุ่มนี้ในฐานะลูกค้าที่มีศักยภาพ

แต่เรย์มอนด์ เจมส์ กลับมองว่ามิลเลนเนียลอาจอยู่เบื้องหลังการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลก เพราะคนกลุ่มนี้ออมเงินมากขึ้น เนื่องจากหวาดกลัววิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่เกิดในอเมริกา บทเรียนครั้งนั้นทำให้คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการออมเงินแต่เนิ่น ๆ และออมบ่อยขึ้นคือกุญแจสำคัญ โดยตามข้อมูลล่าสุดที่ทางการเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่า คนอเมริกันออมในอัตรา 8.1% (คิดจากรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว) และขยับขึ้นไปเป็น 8.3% ในเดือนกันยายน ขณะที่ปี 1996 ออมเพียง 5.7%

นักวิเคราะห์รายนี้ระบุว่า การออมมากขึ้นแม้จะเป็นผลดีสำหรับปัจเจกบุคคล กล่าวคือมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น แต่เป็นผลเสียต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม เพราะว่ามันทำให้ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ซึ่งอุปทานส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการเงิน เมื่อมาประกอบเข้ากับการออมที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยิ่งทำให้อุปทานส่วนเกินสะสมมากขึ้น

พฤติกรรมการออมที่เปลี่ยนแปลงไปของรุ่นมิลเลนเนียล มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะคนรุ่นนี้ถูกคาดหมายว่าจะกลายมาเป็นกำลังซื้อสำคัญแทนที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1946-1964) ที่ตอนนี้แก่ชราลง เริ่มทยอยเกษียณอายุและออกจากตลาดแรงงานไป ซึ่งสำหรับอเมริกานั้น คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เป็นนักบริโภค นักใช้จ่ายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปัญหาการออมส่วนบุคคลสูงขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 เท่านั้น แต่เบอร์ 2 ของโลกอย่างจีนก็เกิดปรากฏการณ์เดียวกันนี้ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก