สหรัฐแก้กฎหมายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ขัดกฎระเบียบองค์การการค้าโลก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐทำการแก้ไขกฎหมายเยียวยาการค้าของสหรัฐ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ก.พ. 2020) ซึ่งส่งผลให้ทางการสหรัฐสามารถดำเนินการพิจารณาการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาภายใต้นิยามขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลกระบุว่าประเทศผู้นำเข้าสามารถตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้ได้หากพบว่ารัฐบาลประเทศที่ส่งออกสินค้าชนิดนั้นมีการอุดหนุนการส่งออกในสัดส่วนมากกว่า 1% ของมูลค่าสินค้าส่งออกดังกล่าว

อย่างไรก็ตามทางดับเบิลยูทีโอได้ให้สิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศผู้นำเข้าจะสามารถตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อขึ้นภาษีตอบโต้การอุดหนุนสินค้าส่งออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อพบว่าประเทศกำลังพัฒนามีการอุดหนุนสินค้าส่งออกในสัดส่วนมากกว่า 2 % ของมูลค่าสินค้า

ซึ่งในส่วนของการกำหนดนิยามของ “ประเทศกำลังพัฒนา” ของดับเบิลยูทีโอนั้น สหรัฐมองว่าดับเบิลยูทีโอมีการนิยามที่คลุมเครือ ซึ่งส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายแห่ง เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ได้รับการกำหนดว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาและได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆ ภายใต้กฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งทางปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ชี้ว่าเป็นการเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐ

ดังนั้นสหรัฐจึงได้ตอบโต้ด้วยการแก้กฎหมายการเยียวยาการค้าเพื่อถอดรายชื่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภายใต้นิยามของดิบเบิลยูทีโอจำนวน 25 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของทางสหรัฐซึ่งส่งผลให้รัฐบาลปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศเหล่านี้ได้หากพบว่ามีการอุดหนุนสินค้าส่งออกในสัดส่วนมากกว่า 1% ของมูลค่าสินค้านั้น