แรงงานต่างชาติหนี “ยูเออี” ประชากรลดวูบ 10% บริโภคทรุด-ธุรกิจชะงัก

REUTERS/Rula Rouhana

การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันต่อแรงงานชาวต่างชาติที่ทำงานทั่วทุกมุมโลก กล่าวคือ ผู้แสวงโอกาสในต่างประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกเลย์ออฟจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยปราศจากสวัสดิการของผู้ว่างงาน จึงส่งผลให้ชาวต่างชาติจำนวนมากไร้ซึ่งอาหารและที่พักอาศัย ผลักดันให้เกิดการเดินทางกลับยังประเทศบ้านเกิด จะเป็นปัจจัยที่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาหรับมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติในภาคเอกชนสูงมาก ขณะที่พลเมืองท้องถิ่นมักจะทำงานในภาครัฐซึ่งพึ่งพารายได้จากน้ำมัน โดยนิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า ชาวต่างชาติทำงานในสิ่งที่คนท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ตั้งแต่แรงงานก่อสร้าง, แม่บ้าน, พนักงานโรงแรม ไปจนถึงแพทย์ โดย “เอมาน อัลฮุสเซน” จาก “สถาบันศึกษาประเทศอ่าวอาหรับ” สำนักคิดซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า กลุ่มประเทศอาหรับจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัย 2 อย่าง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ “น้ำมัน” และ “แรงงานต่างชาติ” อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งสองสิ่งดังกล่าวอย่างสาหัส

สำหรับ “ยูเออี” มีสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างชาติสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงข้อมูลจากโครงการศึกษาตลาดแรงงานและการอพยพของประเทศอ่าวอาหรับ (จีแอลแอลเอ็ม) ชี้ว่าสัดส่วนแรงงานต่างชาติในภาคเอกชนอาจสูงถึงราว 90% นอกจากนี้ทาง “ยูเออี” ยังมีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อโลกภายนอกมากกว่ากลุ่มประเทศอาหรับอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูไบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเออีมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกสูงมาก ดังนั้นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงสร้างความเสียหายต่อประเทศนี้มากกว่าเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังพบว่าสายการบินชั้นนำระดับโลกสัญชาติยูเออี “เอมิเรตส์ กรุ๊ป” ได้มีการเลย์ออฟพนักงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปลดคนที่มีจำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ขณะที่โรงแรมของดูไบจำนวนมากต่างลดพนักงานลงกว่า 30% รวมถึงบริษัทก่อสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่าง “เบิร์จ คาลีฟาห์” และผู้พัฒนาโครงการถมทะเลก็ได้ลดค่าจ้างพนักงานลง ซึ่งแรงงานในธุรกิจเหล่านี้เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือยามว่างงาน จึงจำเป็นต้องหาทางกลับภูมิลำเนาของตน กรณีดังกล่าวงานวิจัยจาก “ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ระบุว่า แรงงานต่างชาติกว่า 900,000 ชีวิตอาจเดินทางออกจากประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรของยูเออีลดลงราว 10%

นอกจากกิจกรรมของธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานเหล่านี้จะหยุดชะงักแล้ว การลดน้อยลงของประชากรสัดส่วน 10% ซึ่งเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูเออีที่การใช้จ่ายของแรงงานต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนของการบริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด

“ไรอัน โบห์ล” นักวิเคราะห์ภูมิภาคตะวันออกกลางจาก “สแตรตฟอร์” แพลตฟอร์มวิจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวว่า “หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล ภาคเอกชนจำเป็นต้องปลดแรงงานเหล่านี้ออก อย่างไรก็ตาม การปลดแรงงานออกจะยิ่งส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งซบเซา ส่งผลให้เกิดการปลดแรงงานมากขึ้นอีก ผลลัพธ์คือวังวนของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ”

จึงกล่าวได้ว่า นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างการจ้างงานหลังการระบาดแล้ว การดึงดูดให้แรงงานเหล่านี้กลับมา ยังเป็นอีกความท้าทายที่ยูเออีกำลังเผชิญ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเร่งพิจารณาหามาตรการต่าง ๆ เช่น การอนุญาตให้แรงงานเหล่านี้อยู่อย่างถาวร นอกจากนี้ยังมีการพิจารณามอบสวัสดิการให้แรงงานต่างชาติที่เทียบเท่ากับพลเมืองท้องถิ่นอีกด้วย