ปฏิบัติการ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ของสหรัฐกรณี “หัวเว่ย”

(Photo by Isabel INFANTES / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อราว 2 ปีก่อน ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงมือจัดการกับ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของโลกจากจีน และบริษัทสัญชาติจีนอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ แซดทีอี กรุ๊ป, หางโจวฮิควิชัน ดิจิทัล เทคโนโลยี และบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

กฎหมายดังกล่าวบัญญัติโดยอาศัยอำนาจตาม รัฐบัญญัติการให้อำนาจเพื่อการป้องกันแห่งชาติ (เอ็นดีเอเอ) จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบัญญัติดังกล่าว รู้จักกันในชื่อ “เซ็กชั่น 889 ส่วน บี” กำหนดระยะเวลาบังคับใช้แตกต่างกันออกไป โดยเริ่มจากหน่วยงานของรัฐเป็นลำดับแรก แล้วจึงบังคับใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 13 ส.ค.นี้

แล้วก็กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับบริษัทธุรกิจของอเมริกัน ที่ตอนนี้เริ่มแตกตื่นกันเงียบ ๆ ภายในองค์กรของตัวเองว่า จะเอายังไงกันดี

รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อ 10 มิ.ย.นี้บอกว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแอโรสเปซ, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมรถยนต์ รวมแล้วกว่า 10 อุตสาหกรรม

ถ้านับเป็นรายกิจการที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ว่านี้ ตัวเลขรวมก็จะมีมากกว่า 100,000 บริษัทที่จะเกิดปัญหา

Advertisment

ตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาก็คือ ตัวบทบัญญัติที่เขียนไว้ให้ครอบคลุมกว้างขวางอย่างมาก บทบัญญัติในหมวด 449 ส่วนบี ที่ว่านี้บัญญัติไว้ว่า บริษัทธุรกิจใดที่ต้องการเสนอขายสินค้าหรือบริการให้กับทางการสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้อง “รับรอง” ว่า ในห่วงโซ่ซัพพลายทั่วโลกของบริษัทนั้น ๆ ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนใด ๆ ของบริษัทต้องห้ามจากจีนเหล่านั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ในส่วนของบริษัทที่ต้องการเสนอขายสินค้าหรือบริการให้กับรัฐบาลเท่านั้น

นั่นหมายถึงว่า แต่ละสาขาของบริษัทเหล่านั้น รวมทั้งบริษัทที่ทำหน้าที่เป็น “ซับคอนแทร็กต์” ทั้งหลาย ต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดข้องแวะกับบริษัทต้องห้ามจากจีนเหล่านี้เลย

เดวิด แฮงค์ อดีตคณะทำงานในรัฐสภาสหรัฐที่เคยทำงานด้านงบประมาณกลาโหม ขยายความให้เห็นว่า การเขียนกฎหมายไว้กว้างขวางมากดังกล่าว เท่ากับเป็นการจำกัดการยืดหยุ่นให้เหลือน้อยที่สุด บังคับใช้ขึ้นมาเมื่อใด ก็ไม่สามารถหาช่องทางอื่นได้ ต้องยืนตัวแข็ง เดินตัวลีบ ๆ ไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเดียวเท่านั้น

ซาแมนธา คลาร์ก ที่ปรึกษาพิเศษของบริษัทกฎหมาย โควิงตันแอนด์เบอร์ลิง ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ในภูมิภาคของโลกอย่างเช่นยุโรป หรือแอฟริกา หรือแม้แต่ในเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศจีน อุปกรณ์ของหัวเว่ยแพร่หลายอย่างมาก ชนิดพบเห็นได้โดยทั่วไป ผลก็คือหลาย ๆ บริษัทที่ต้องการขายของหรือบริการของตัวเองให้กับรัฐบาลอเมริกัน อาจไม่รู้เลยก็ได้ว่า ส่วนของกิจการของตนในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเหล่านั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นอยู่หรือไม่ หรือหากรู้ว่ามี แล้วจะทำอย่างไรถึงจะได้ไม่ใช้ ?

Advertisment

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายต่อหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ถ้าตีความตามตัวอักษร นั่นหมายความว่า กิจการสาขา หรือแม้แต่ซัพพลายเออร์, ซับคอนแทร็กเตอร์, เซอร์วิสโพรไวเดอร์ ของกิจการใด ๆ เหล่านั้นก็ตาม ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับหัวเว่ย หรือบริษัทต้องห้ามอื่น ๆ โดยเด็ดขาด

นั่นหมายความว่า สาขาของบริษัทอเมริกันไม่สามารถใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใด ๆ ในท้องถิ่น, ไม่สามารถสมัครใช้งานคลาวด์เน็ตเวิร์ก, ว่าจ้างบริษัทชิปปิ้ง หรือแม้แต่เวนเดอร์ทั้งหลายที่อาจใช้งานเราเตอร์, สวิตช์ หรืออุปกรณ์อื่นใดของหัวเว่ยได้เลย

ตามรายงานของ บลูมเบิร์ก บอกว่า กลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนของกิจการใหญ่โตข้ามชาติอย่าง ล็อคฮีดมาร์ติน, อเมซอน, แอปเปิล, 3เอ็ม และ ฟอร์ด มอเตอร์ เป็นอาทิ ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อผลักดันให้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์และบรรดาสมาชิกสภาคองเกรส แก้ไขบทบัญญัตินี้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติมากกว่านี้

หากยังไม่แก้ไขก็ขอให้ยืดระยะเวลาบังคับใช้ให้ล่าช้าออกไปอีก เพื่อให้บริษัทสามารถจัดการเคลียร์ระบบห่วงโซ่ซัพพลายทั้งระบบในทุก ๆ ที่ทั่วโลกให้ปลอดจากหัวเว่ยและบริษัทต้องห้ามจากจีน ซึ่งยิ่งมีการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ก็ยิ่งดำเนินการได้ยากลำบากมากขึ้น

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มตัวแทนธุรกิจอุตสาหกรรม 10 กลุ่ม รวมทั้งสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา และสมาคมอุตสาหกรรมการบินอวกาศ ทำจดหมายถึงสภาคองเกรส ยืนยันว่า ถ้าหากยังคงบังคับใช้กฎหมายที่ว่านี้ตามกำหนดเดิม มีหวังทางบริษัทที่เป็นสมาชิกของกลุ่มต้องระงับการจัดหาสินค้าและบริการให้กับหน่วยงานของทางการทันที

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ถ้าแก้ไขกฎหมายก็ไม่ได้ เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก็ไม่สำเร็จ

ทางออกสุดท้ายที่เป็นไปได้ก็คือ เลิกยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลไปทั้งหมดเท่านั้นเอง