ราคาน้ำมันดิบพุ่ง-ดีมานด์ต่ำ “โรงกลั่น” เสี่ยง “ล้มละลาย”

โรงกลั่นน้ำมัน
File Photo : (Photo by Mark Felix / AFP)

สงครามราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการปิดกั้นการเดินทางเพื่อควบคุมโรคระบาด ที่ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันโลกลดฮวบลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยังไม่แน่ชัดว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ “อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน”

บลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันดิบจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น หลังจากในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้บรรลุการเจรจาร่วมกับรัสเซีย และกลุ่มประเทศโอเปกพลัส ลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงไม่ให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำไปมากกว่านี้ ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นประวัติการณ์

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันสามารถทำ “กำไรเบื้องต้น” (refinery margins) ได้จากส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบและราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่น ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเบนซิล น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และปิโตรเคมีสำหรับผลิตพลาสติก

โดยมีบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ระดับโลกอย่าง “เอ็กซอน โมบิล” (Exxon Mobil) และ “รอยัล ดัตช์ เชลล์” (Royal Dutch Shell) และผู้กลั่นน้ำมันรายใหญ่ในเอเชียอย่าง “ซิโนเปก” (Sinopec) ของจีน และ “อินเดียน ออยล์” (Indian Oil) ของอินเดีย รวมถึงบริษัทโรงกลั่นอิสระขนาดใหญ่อย่าง “มาราธอน ปิโตรเลียม” (Marathon Petroleum) และ “วาเลโร เอนเนอจี” (Valero Energy) ที่มีมูลค่าการผลิตรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019แต่ข้อตกลงลดกำลังการผลิต

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นจากระดับ 16 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ได้สร้างแรงกดดันอย่างหนักให้กับอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันที่ต้องเผชิญกับต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการปิโตรเคมีภัณฑ์ยังคงซบเซา

“สเปนเซอร์ เวลช์” รองประธานฝ่ายที่ปรึกษาตลาดน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายของไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า “ผลกำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้จะย่ำแย่ยิ่งกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันยุโรปจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมากกว่าช่วงเวลานี้”

แม้ว่าช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความต้องการน้ำมันในหลายประเทศจะเริ่มดีดตัวขึ้น จากที่หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ โดยความต้องการน้ำมันในสหรัฐเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง เช่นเดียวกับจีนที่มีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบถึงระดับความต้องการช่วงก่อนโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำมันในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันมากที่สุดก็ยังคงไม่ฟื้นตัวโดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันสายการบินทั่วโลกยังคงไม่สามารถกลับมาให้บริการตามปกติ โดยเฉพาะในยุโรปที่ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการอยู่ที่ราว 10-20% จากระดับปกติก่อนเกิดไวรัส ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในบางประเทศก็เริ่มกลับมาระบาดซ้ำระลอกใหม่ จนส่งผลให้ต้องจำกัดการเดินทางอีกครั้งอย่างกรณีกรุงปักกิ่งของจีน เป็นต้น

ทั้งนี้ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกทำให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานลง แต่ “สตีเฟน วูล์ฟ” หัวหน้าฝ่ายน้ำมันดิบของบริษัทที่ปรึกษาเอนเนอร์จี แอสเปกต์ส ชี้ว่า “การเปลี่ยนจากการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานไปเป็นการผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินของโรงกลั่น จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการ”

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การฟื้นตัวของราคาน้ำมันยังไม่มีความแน่นอน “วูด แมคเคนซี” บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานระดับโลกคาดการณ์ว่า ผลกำไรรวมของบริษัทกลั่นน้ำมัน 550 แห่งทั่วโลกในปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 130,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เรียกว่าหดหายไปมากกว่า 2 ใน 3

และหากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันไม่สามารถแบกรับแรงกดดัน รวมถึงผลกระทบเหล่านี้ต่อไปได้ โรงกลั่นบางรายอาจถึงขั้นล้มละลายหรือต้องปิดตัวไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นหลายพันคน ขณะที่โรงกลั่นบางแห่งอาจลดปริมาณการซื้อน้ำมันดิบ ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมันโลกด้วย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ระบุว่า ในระยะยาวความต้องการน้ำมันที่ตกต่ำทั่วโลกยังจะส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ซึ่งมีอายุการใช้งานมายาวนานกว่า และไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่งในเอเชียได้

ช่วงที่ผ่านมา จีนและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศได้สนับสนุนการสร้างโรงกลั่นน้ำมันจำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและจะเริ่มเปิดดำเนินการช่วงปี 2021-2024 ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำมันของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศข้างเคียงด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐและยุโรปมีความเสี่ยงที่จะต้องปิดตัวลงมากขึ้น และแม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถจำกัดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ แต่ทางรอดของอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันยังคงขึ้นอยู่ที่ปริมาณการใช้ปิโตรเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคงไร้ซึ่งความแน่นอน