จับตาไอพีโอ “แอนต์กรุ๊ป” “ฟินเทค” มูลค่าสูงกว่าธนาคารยักษ์

Photo by - / AFP / China OUT
การประกาศแผนล่าสุดของ “แอนต์กรุ๊ป” (Ant Group) บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ “ฟินเทค” ยักษ์ใหญ่ของจีน เข้าสู่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง กลายเป็นที่ฮือฮาของนักลงทุนที่คาดการณ์กันว่า มูลค่าในการเสนอขายหุ้นครั้งนี้อาจสูงลิ่ว และส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าตลาดสูงกว่าธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งในปัจจุบัน และเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทเทคโนโลยีจีนกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “แอนต์กรุ๊ป” ประกาศแผนการจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในกระดานหุ้นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยี หรือ “สตาร์มาร์เก็ต” ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ พร้อมกับการไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วย

แอนต์กรุ๊ปเป็นบริษัทฟินเทคในเครือ “อาลีบาบา” ของมหาเศรษฐี “แจ็ก หม่า” ก่อตั้งในปี 2014 ภายใต้ชื่อ “แอนต์ไฟแนนเชียล” (Ant Financial) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินของอาลีบาบาโดยเฉพาะซึ่งแอนต์กรุ๊ปเป็นผู้ให้บริการระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์ “อาลีเพย์” (Alipay) ไม่ว่าจะเป็นการชำระสินค้า การลงทุน ไปจนถึงการปล่อยสินเชื่อขนาดเล็ก โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 900 ล้านคน

นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าองค์กร รวมทั้งการบริหารความมั่งคั่ง การให้สินเชื่อผู้ประกอบการ และธุรกิจประกันภัย และยังมีการลงทุนในบริษัทฟินเทคทั่วโลกอย่าง “เพย์เอ็มที” ของอินเดีย

โดยข้อมูลของซีบีอินไซต์สระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจของ “แอนต์กรุ๊ป” มีมูลค่าตลาดสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างคาดการณ์กันว่า แอนต์กรุ๊ปน่าจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เช่นเดียวกับ “อาลีบาบา” ที่ทำไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในปี 2014 สามารถระดมทุนได้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าตลาดสูงถึง 231,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้น ก่อนที่จะถูกทุบสถิติโดยการทำไอพีโอของ “ซาอุดีอารัมโก” (Saudi Aramco) วิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ในปี 2019

แต่ความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างรัฐบาลจีนและสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทสัญชาติจีนต้องเผชิญกับความยากลำบากจากกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในการเข้าสู่แหล่งทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ โดยเฉพาะการกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยรายละเอียดเพื่อแสดงความโปร่งใสว่า บริษัทไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล (จีน)

เป็นเหตุให้บริษัทจีนจำนวนหนึ่งหันมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นตลาดที่ 2 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายฐานการระดมทุนในกรณีที่ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

การประกาศแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ของแอนต์กรุ๊ปในครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจจีนที่พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาที่มาจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ด้วยการเลือกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีนเอง โดยเฉพาะในกระดานหุ้นสตาร์ของจีน ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2019 โดยตั้งเป้าให้มีศักยภาพเทียบเท่ากับตลาดหุ้นแนสแดคของสหรัฐ

ขณะที่การจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นกับสถานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกของฮ่องกง หลังจากที่รัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ จนส่งผลให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลใจต่อเสรีภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในฮ่องกง โดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในจากต่างชาติ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาติดต่อการค้าและการลงทุนสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

ซีเอ็นเอ็นรายงานถึงแถลงการณ์ของ “อีริก จิง” ซีอีโอของแอนต์กรุ๊ป ที่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลจีน และฮ่องกง ในการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาว่า “มาตรการของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง จะช่วยเปิดประตูให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในตลาดที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก ในเวลาเดียวกันก็ช่วยเปิดทางให้บริษัทเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างกว้างขวางด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่า แอนต์กรุ๊ปจะจดทะเบียนและทำไอพีโอเมื่อไหร่ และขนาดของไอพีโอครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงเท่าใด

“ดาวิด ได” ผู้อำนวยการจัดการและนักวิเคราะห์อาวุโสของเบิร์นสไตน์ บริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ชั้นนำของวอลล์สตรีตประมาณการว่า การทำไอพีโอครั้งนี้ แอนต์กรุ๊ปอาจทำให้บริษัทฟินเทคแห่งนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งหมายความว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงกว่าธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ อย่าง “โกลด์แมน แซกส์” (Goldman Sachs) ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 72,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง “เวลส์ ฟาร์โก” (Wells Fargo) ที่มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 100,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 21 ก.ค. 2020

ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า เทรนด์บริษัทเทคโนโลยีเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ บริษัท “เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น” (SMIC)

ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกระดานหุ้นสตาร์มาร์เก็ต ในฐานะตลาดที่ 2

ขณะที่ “เจดีดอตคอม” (JD.com) ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจดทะเบียนตลาดที่ 2 ในตลาดหุ้นฮ่องกง ส่วนอาลีบาบาก็สามารถระดมทุนได้ถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากจดทะเบียนในฮ่องกงเป็นตลาดที่ 2 เมื่อปลายปีที่แล้วเช่นกัน

“แดเนียล หว่อง” ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์วิจัยประจำดัชนีฮั่งเส็งของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ชี้ว่า “ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับตลาดฮ่องกง”

โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หุ้นของเทนเซนต์ (Tencent), อาลีบาบา และเหม่ยถวนเตี่ยนผิง (Meituan Dianping) เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของมูลค่าการซื้อขายรวม

ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเปิดเผยว่า กำลังจัดทำดัชนีใหม่ “ดัชนีฮั่งเส็งเทค” (Hang Seng Tech Index) โดยคัดเลือก 30 บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มาคำนวณดัชนีดังกล่าว จากที่มีบริษัทเทคโนโลยีจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงทั้งหมด 163 ราย

“ดัชนีฮั่งเส็งเทค” มีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยรวมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา, เน็ตอีส, เจดีดอตคอม, เทนเซนต์, เหม่ยถวนเตี่ยนผิง และเสียวหมี่ และคาดว่าแอนต์กรุ๊ปจะถูกรวมอยู่ในกลุ่ม 30 บริษัทนี้ด้วย