ถอดบทเรียน เจแปนโมเดล ไวรัสกระจายตัวหลังเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

Passersby wearing protective face masks are seen at Takeshita Street, a popular sightseeing spot amid the coronavirus disease (COVID-19) outbreak in Tokyo, Japan July 29, 2020. REUTERS/Issei Kato

มาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของญี่ปุ่น ที่ความพยายามรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมโรค และการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป ซึ่งเรียกว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกแรก จนกลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ ที่ชื่นชมการรับมือแบบ “เจแปนโมเดล” แต่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศกำลังสร้างความกังวลว่า การระบาดในญี่ปุ่นอาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และการเร่งคลายมาตรการกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วแบบญี่ปุ่นจะเป็นผลดีจริงหรือไม่

บลูมเบิร์กรายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พุ่งสูงถึง 1,557 คน ภายในหนึ่งวัน เป็นสถิติผู้ป่วยรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สูงเกิน 1,000 คน/วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันแล้ว โดยยอดผู้ป่วยเมื่อ 1 ส.ค. อยู่ที่ 1,331 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 39,902 คน

การกลับมาระบาดในครั้งนี้ของญี่ปุ่น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเร่งกลับสู่ภาวะปกติ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามควบคุมการระบาดไปพร้อมกับการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบปูพรม ไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ไม่มีการใช้กฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจปิดบริการ ทั้งยังให้อำนาจท้องถิ่นในการดำเนินมาตรการควบคุมโรคตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงเพื่อขอความร่วมมือประชาชนในการงดเว้นออกนอกที่พักอาศัยและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการเพื่อควบคุมโรค โดยไม่มีบทลงโทษ

ทั้งนี้ หลังจากยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือน พ.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วเพื่อเร่งภาวะเศรษฐกิจ และในเดือน มิ.ย. ร้านอาหารและสถานบันเทิงต่างกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงกีฬาที่มีความเสี่ยงอย่างเบสบอลและซูโม่ก็ได้รับอนุญาตให้มีการแข่งขันได้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า “ทาโรอาโซ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงในการควบคุมโรคเช่นเดียวกับประเทศอื่น ทั้งยังแนะนำให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ด้วยมาตรฐานทาง “วัฒนธรรมขั้นสูง” เป็นกลไกในการควบคุมโรคระบาด

แต่การผ่อนคลายมาตรการจนแทบจะเป็นปกติและการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้ส่งผลให้มีผู้ป่วยพุ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว หลังเกิดการติดเชื้อในวงกว้างจากไนต์คลับช่วงปลายเดือน มิ.ย. และนำไปสู่การยกระดับคำเตือนโรคระบาดในเมืองหลวงระดับสูงสุดช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

“โยชิฮิโตะ นิกิ” ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโชวะ ระบุว่า “การแพร่ระบาดครั้งใหม่เป็นผลมาจากที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนแทนที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรค”

อีกทั้งการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะชะลอตัวลงอย่างเพียงพอ นำมาสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการกลับสู่วิถีชีวิตตามปกติ และทำให้แผนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง

แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของญี่ปุ่นจะไม่สูงมากนัก หากเทียบกับทั่วโลก โดยมียอดผู้เสียชีวิตสะสมเพียง 1,026 ราย แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ก็กำลังสร้างความกังวลว่าจะนำไปสู่การแพร่กระจายทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากขึ้น

“เคนจิ ชิบูย่า” ศาสตราจารย์ประจำคิงส์คอลเลจลอนดอน และอดีตหัวหน้านโยบายสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับฮ่องกงและออสเตรเลียที่พยายามจำกัดการกระจายตัวของโรคอย่างรวดเร็ว ทั้งการปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้อ การใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงการล็อกดาวน์บางพื้นที่ แต่ญี่ปุ่นทำสิ่งที่อันตรายมากด้วยการเพียงเฝ้าระวังเท่านั้น”

ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอร้องให้ประชาชน “พิจารณาอย่างรอบคอบ” ว่า มีความจำเป็นหรือไม่ในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากผู้เดินทางจาก เมืองใหญ่ ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ อาจเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงและมีอยู่เป็นจำนวนมาก