เคเบิลทีวีสหรัฐกำลังตาย ค่ายยักษ์หนีเข้าสนามรบ “สตรีมมิ่ง”

สตรีมมิ่งในสหรัฐ
(Photo by EVA HAMBACH / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ครั้งหนึ่งธุรกิจเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก เคยรุ่งเรืองสุดขีดในสหรัฐอเมริกา จนมีคนเปรียบเปรยว่า หากมีเคเบิลทีวีอยู่ในมือก็เหมือนมี “ห่านที่ไข่เป็นทองคำ” อยู่กับตัว

ตอนรุ่งเรืองสุดขีด เคเบิลทีวีในสหรัฐมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 100 ล้านครัวเรือน สร้างรายได้แต่ละเดือนมหาศาล จนกระทั่งธุรกิจสื่อถูก “ดิสรัปต์” อย่างรุนแรง จากการเกิดขึ้นของบริการ “สตรีมมิ่ง”

ผู้บริหารระดับสูงธุรกิจสื่อในสหรัฐอย่างน้อย 3 บริษัทยอมรับตรงกันว่า ธุรกิจเคเบิลทีวีเริ่มสูญเสียสมาชิกมาตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมา ขณะที่มีสมาชิกราว 100 ล้านครัวเรือน นับตั้งแต่ปี 2012เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ จำนวนสมาชิกประจำลดลงไปแล้วกว่า 25 ล้านครัวเรือน

และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะหายไปอีก 25 ล้านครัวเรือน และจะเหลือสมาชิก “คงที่” อยู่ราว 50 ล้านครัวเรือนเท่านั้น หากคิดเป็นรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจเคเบิลทีวีในสหรัฐ รายได้จะหายไปราว 25,000 ล้านดอลลาร์ จากการถูกยกเลิกการบอกรับสมาชิก

นี่ยังไม่นับการสูญเสียรายได้จากโฆษณา สำหรับเคเบิลทีวีรายใหญ่ ๆ อย่าง ดิสนีย์, คอมคาสต์, เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล, เอทีแอนด์ที วอร์เนอร์ มีเดีย, วีอาคอมซีบีเอส, ฟอกซ์, ดิสคัฟเวอรี่, ซินแคลร์ และเอเอ็มซี เน็ตเวิร์ก

“เจฟฟ์ บิวเคส” ซีอีโอของไทม์ วอร์เนอร์ เคยบอกไว้ว่า เป็นเพราะบริษัทสตรีมมิ่งมีศักยภาพในตัวสูงกว่า เคเบิลทีวีไม่สามารถปรับตัวให้เป็น “ออนดีมานด์” ได้เต็มที่ ต้องอาศัยพึ่งพาเงินจากโฆษณา และที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทสตรีมมิ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูงกว่ามาก

นั่นคือที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อในสหรัฐอเมริกาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ยักษ์ใหญ่หลายราย อาทิ ดิสนีย์, เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล, วอร์เนอร์ มีเดีย, และวีอาคอมซีบีเอส ต่างประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ทั้งปรับเปลี่ยนผู้นำรุ่นเก่า สูงอายุ, รวมแผนก, ปลดพนักงานส่วนเกินเป็นเรือนพัน แล้วเบนเข็มเข้าหาธุรกิจสตรีมมิ่ง

ไม่เพียงเกิด ดิสนีย์พลัส ยังมี เอชบีโอแม็กซ์ (ของวอร์เนอร์ มีเดีย), พีค็อก (เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล), พาราเมาท์พลัส (วีอาคอมซีบีเอส) เรื่อยไปจนถึง ดิสคัฟเวอรี่พลัส และเอเอ็มซีพลัสด้วย

ด้วยคาดหวังว่าธุรกิจสตรีมมิ่งจะก่อให้เกิดรายได้ที่จะไปชดเชยธุรกิจเคเบิลทีวี

โดยค่าสมาชิกเคเบิลทีวีในสหรัฐอยู่ที่ราว 17.62 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 550 บาท) ที่ย่อมเยาที่สุดเป็น อีเอสพีเอ็น ซึ่งมีแต่กีฬาให้รับชม แต่ก็ยังได้รับความนิยม ระดับราคาอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อเดือน

ขณะที่ค่าสมาชิกสตรีมมิ่งของ “ดิสนีย์พลัส” บวกกับอีเอสพีเอ็น อยู่ที่เพียง 6.99 ดอลลาร์ แถมไม่มีโฆษณาโผล่มาขัดจังหวะด้วย

แต่การเปลี่ยนเป็นหนึ่งในธุรกิจสตรีมมิ่งพร้อมกันไปด้วย ก็ไม่น่าจะเป็นหนทางอยู่รอดของธุรกิจเคเบิลทีวี

เหตุผลสำคัญหนึ่งก็คือ เคเบิลทีวีจำเป็นต้อง “การันตี” รายรับให้กับผู้ผลิตเนื้อหาเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่ ซึ่งก็สูงมากขึ้นทุกที แต่จะไม่ซื้อลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะวางมือเมื่อใด คู่แข่งเป็นฉกไป ซึ่งอาจยิ่งทำให้สถานะของบริษัทแย่ลงหนักขึ้น

ดังนั้น ใช่ว่าทุกกิจการเคเบิลทีวีจะสามารถแปลงโฉมเป็นสตรีมมิ่งแล้วจะสามารถอยู่รอดได้ในระดับโลก ภายใต้การแข่งขันสูงกับยักษ์ใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์, อเมซอน และแอปเปิลทีวี

บิวเคสเชื่อว่ามีเพียงบางรายเท่านั้นที่มี “คอนเทนต์” เป็นของตนเองและเป็นคอนเทนต์จำเพาะ เหมือนเช่น “ดิสนีย์” มีคอนเทนต์ครอบครัวสะสมเอาไว้เป็นจำนวนมาก จนสามารถ “แจ้งเกิด” ในโลกสตรีมมิ่งได้

ส่วนที่เหลืออาจต้องล้มหายตายจากไปทั้งกิจการในส่วนที่เป็นสตรีมมิ่งและเคเบิลทีวี