IMF ห่วงจีน-ตลาดเกิดใหม่ กระทบหนักหลัง “เฟด” ขึ้น

ในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเตือนบรรดาชาติสมาชิกก็คือการระมัดระวังการก่อหนี้และการใช้งบประมาณอย่างรัดกุม เพราะเป็นช่วงรอยต่อที่โลกการเงินไม่ว่าจะในซีกของสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังจะค่อย ๆ กลับไปใช้นโยบายการเงินแบบปกติ จากที่เคยใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานานนับจากวิกฤตการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

เต๋า จ่าง รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ส่งสารเตือนไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งจีนว่า ในช่วงปัจจุบันที่เงื่อนไขด้านการเงินยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมยังต่ำ ประเทศเหล่านี้ควรจะใช้งบฯที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและจัดการการคลังให้เข้าที่เข้าทาง หรือหากจะกู้เงินก้อนใหม่ก็ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน

เพราะเมื่อใดก็ตามที่นโยบายการเงินโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น

ปัจจุบันหลายประเทศมีหนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐในระดับสูง เมื่อธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ ใช้นโยบายการเงินตึงตัว เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะเริ่มใช้การเงินตึงตัว ทั้งเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ ตลอดจนลดขนาดงบดุลลง เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่กำลังหารือในการลดมาตรการผ่อนคลายการเงินในเชิงปริมาณ (คิวอี)

“ในหมู่นักลงทุนกำลังเกิดความกังวลว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่กำลังสูงขึ้นในสหรัฐอาจจะมีผลกระทบใหญ่ต่อจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย” รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวและว่า ไอเอ็มเอฟตระหนักว่า ตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้ต่ำจำนวนมากยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาอีกมากแต่ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องใส่ใจการใช้งบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่แข็งแกร่งกว่าช่วง 10-20 ปีที่แล้วตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อดอกเบี้ยในตลาดโลกสูงขึ้น โดยต้องยอมรับว่า “จากนี้ไปบททดสอบที่แท้จริงกำลังมาหาเรา”

นอกจากนี้หนึ่งในปัญหาที่บรรดาผู้วางนโยบายและนักลงทุนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กังวล คือราคาสินทรัพย์ทั่วโลกรับเอาทุกปัจจัยมาไว้ในราคา ยกเว้นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น ความตึงเครียดในปัญหาเกาหลีเหนือ ดังนั้นจึงควรตื่นตัวและระแวดระวังอยู่เสมอเพื่อเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงนี้

ประเด็นของจีนนั้น ไอเอ็มเอฟเห็นว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงโครงสร้างจากการพึ่งพาส่งออกราคาถูกเป็นหลัก มาเป็นการใช้ภาคบริโภคภายในขับดันเศรษฐกิจแทน ซึ่งเห็นผลแล้วและกำลังดำเนินอยู่ และก็เห็นด้วยว่าควรจะดำเนินต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างนี้ก็มีการขยายสินเชื่อมากอย่างรวดเร็ว

ซึ่งจำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด แต่ก็เห็นว่าทางการของจีนกำลังดำเนินมาตรการดูแลจัดการสินเชื่อและผลก็ออกมาในทางบวก ส่วนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือโครงการสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีนนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโต แต่ทว่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องมีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้การใช้เงินลงทุนเป็นไปอย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกันในรายงานเสถียรภาพการเงินทั่วโลกของไอเอ็มเอฟ ยังได้แสดงความเป็นห่วงการกู้ยืมของภาคนอกการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (จี 20) ซึ่งได้แก่การกู้ยืมโดยรัฐบาล, บริษัทนอกภาคการเงินและภาคครัวเรือน เนื่องจากระดับการกู้ยืมสูงแซงหน้าช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลก ทำให้จี 20 มีหนี้รวมกัน 135 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 235% ของจีดีพี

ขณะที่ในปี 2549 หรือช่วงก่อนวิกฤตมีสัดส่วนหนี้เพียง 210% ของจีดีพี

ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรอบต่อไปอาจมาจากนอกภาคการเงินที่ความเสี่ยงกำลังเพิ่มขึ้น ดบ.