นักวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยพรีมัธ มองว่า เหตุเรือสินค้าเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ซึ่งเปรียบดังเส้นเลือดสำคัญของการขนส่งทางเรือ ได้เผยให้เห็นจุดอ่อนของระบบการขนส่งโลก
วันที่ 26 มีนาคม 2564 ชาแนลนิวส์เอเชีย รายงานข้อมูลจากนักวิจัยทางทะเล มหาวิทยาลัยพรีมัธ ประเทศอังกฤษ ที่ระบุว่า มีการประมาณการณ์ว่า 90% ของการค้าโลกเป็นการขนส่งทางทะเล แม้ในฐานะผู้บริโภคเราแทบไม่เคยคิดเลยว่าสินค้าที่ซื้อมานั้น เดินทางข้ามโลกและส่งมาถึงบ้านเราได้อย่างไร
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เรือขนาดใญ่อย่าง “เอเวอร์ กิฟเวน” (Ever Given) จอดเกยตื้นในคลองสุเอซ ซึ่งถือเป็นการเผยจุดอ่อนของระบบการขนส่งโลก
กระแสลมที่พัดรุนแรงตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้ากีดขวางการสัญจร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อคลองสุเอซ ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง
อย่างไรก็ตาม การขนส่งที่ต้องอาศัยช่องทางแคบ ๆ แห่งนี้ มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้ตลอดเวลา
นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางทะเลมักจะจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คล้ายกับเหตุการณ์เรือเอเวอร์ กิฟเวน เพื่อทำความเข้าใจผลที่จะตามมา ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น
ความจริงอุบัติเหตุครั้งล่าสุดนี้มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่นักวิจัยเคยพูดคุยเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคลองสุเอซ และส่งผลกระทบต่อการค้าโลก
คลองสุเอซเป็นประตูสำหรับการลำเลียงสินค้าระหว่างยุโรปกับเอเชีย คลองแห่งนี้มีเรือสัญจรผ่านมากกว่า 19,000 ลำ ในปี 2562 คิดเป็นน้ำหนักสินค้าเกือบ 1.25 พันล้านตัน หรือประมาณ 13% ของการค้าโลก ดังนั้นการที่มีเรือกีดขวางการสัญจร จึงส่งผลกระทบต่อคลองสุเอซอย่างมีนัยสำคัญ
เรือลำใหญ่ขวางคลอง
หน่วยงานที่ดูแลคลองสุเอซเริ่มขยายคลองเมื่อปี 2557 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือต่อวัน จาก 49 ลำ เป็น 97 ลำ ภายในปี 2566 (ตัวเลขนี้ทำให้เราทราบจำนวนเรือที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบัน)
มีรายงานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เรือบรรทุกน้ำมันดิบ 10 ลำ ที่บรรทุกน้ำมัน 13 ล้านบาร์เรล รวมถึงเรือลำอื่น ๆ ต้องหยุดการเดินเรือ และต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มอีก 15 วัน ในกรณีที่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ
สาเหตุที่เหตุการณ์นี้มีความรุนแรง เนื่องจากเรือเอเวอร์ กิฟเวน มีขนาดยาวถึง 400 เมตร จุดกว้างสุดของเรือมีความกว้างถึง 59 เมตร และลึกถึง 16 เมตร ทำให้มันเป็นหนึ่งในเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่า 18,000 ตู้
อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาว่าสถานการณ์เรือเกยตื้นครั้งนี้ร้ายแรงแค่ไหน ต้องดูจากการกู้เรือและการทำให้เรือกลับมาลอยลำได้อีกครั้ง ซึ่งถือถือเป็นภารกิจที่มีความซับซ้อน เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์พิเศษ และอาจใช้เวลามาก
จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเรือคอนเทนเนอร์ที่มีขนาดใหญ่เท่า ๆ กัน ที่สัญจรผ่านคลองสุเอซ มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
เรือคอนเทนเนอร์คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของเรือที่สัญจรในคลองสุเอซ โดยความลึกและเส้นรอบวงเรือของเรือเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้สัญจรผ่านคลองสุเอซได้ยากลำบาก
เมื่อเรือลำใหญ่เหล่านี้ต้องเคลื่อนผ่านคลอง เรือจะต้องรักษาความเร็วในระดับหนึ่ง เพื่อให้สามารถบังคับเลี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยความสามารถในการบรรทุกสินค้ามากกว่า 150,000 ตัน เรือเหล่านี้จะไม่สามารถหยุดกระทันหันได้ หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ลูกเรือจะมีเวลารับมือน้อยมากก่อนที่เรือจะเกยตื้น
อุบัติเหตุเรือเกยตื้นจึงเป็นสิ่งที่แทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อความกว้างของเรือเกินขนาดความกว้างของคลอง แต่สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์นี้เลวร้ายมากขึ้นเป็นพิเศษคือ “ตำแหน่งที่เรือเกยตื้น”
นับตั้งแต่คลองถูกขยายออก บริเวณส่วนต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของคลองสุเอซ มีช่องทางให้เรือเข้าออกได้ 2 ช่องทาง เพื่อให้เรือสามารถเดินทางได้โดยสะดวก แม้จะมีการปิดช่องทางสักช่องทางหนึ่งก็ตาม
แต่ตำแหน่งที่เรือเกยตื้นขณะนี้อยู่บริเวณปลายคลองสุเอซ ทำให้ เรือเอเวอร์ กิฟเวน กำลังปิดกั้นช่องทางเดียวที่เรือจะแล่นผ่านได้ ในระหว่างที่เรือต่าง ๆ กำลังต่อขบวนอย่างหนาแน่น เพื่อแล่นผ่านคลองที่มีความยาว 193 กิโลเมตร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุบัติเหตุครั้งนี้จะทำให้การเดินเรือติดขัดหรือแม้กระทั่งเกิดเหตุเรือชนกัน
ยังไม่มีความชัดเจนว่าการส่งสินค้า (เช่น ยาหรืออาหาร) จะมีความล่าช้าหรือไม่ แต่การทำความเข้าใจผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่อการค้าโลก จะช่วยให้เราสามารถเตรียมแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพไว้ล่วงหน้าได้
มันอาจจะแย่กว่านี้?
นอกจากนี้ นักวิจัยยังสนใจปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อเหตุการณ์นี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือปัจจัยเรื่อง “เวลา” เพราะโดยปกติแล้ว ช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส คือในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายสำหรับการค้าขายทางทะเล
การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในช่วงเวลานี้จะสร้างความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเลวร้าย เช่น หมอกหนา จนทัศนวิสัยแย่ลง
อีกปัจจัยหนึ่งคือความขรุขระของริมฝั่งคลอง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่กิโลเมตรจากท่าจอดเรือของคลองสุเอซ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของช่องแคบ เรือลำนี้อาจจะเกยตื้นบนฝั่ง ที่เต็มไปด้วยหิน ไม่ใช่ทราย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสียรุนแรงต่อลำเรือ ซึ่งทำให้ปฏิบัติการกู้เรือทำได้ยากขึ้น
แม้ทีมจะยังไม่เคยประเมินว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้น แต่สถานการณ์นี้ก็ทำให้เราทราบว่าเรือที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่านี้ อาจเดินทางผ่านช่องแคบที่สร้างขึ้นในยุคก่อนด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น
การเกยตื้นของเรือในวันนี้อาจไม่ส่งผลระยะยาวมากนัก แต่ก็อาจถูกมองว่าเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบทั้งในวงแคบและวงกว้างต่อการค้าท้องถิ่นและการค้าโลก
เราจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงจุดอ่อนเหล่านี้ ในระหว่างที่โลกของเรากำลังจะเชื่อมต่อกันมากขึ้น