เศรษฐกิจแกร่ง-ดีมานด์พุ่ง สหรัฐ ‘อิมพอร์ต’ ทุบสถิติ

ส่งออก
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยให้เห็นว่าในเดือนมีนาคม 2021 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 2.745 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 6.3% ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.6% ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่นำเข้ามีหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ สินค้าปิโตรเลียม อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งอาหารและสินค้าทุนต่าง ๆ

ในจำนวนการนำเข้าทั้งหมด ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ทำให้สหรัฐ “ขาดดุลการค้าจีน” เพิ่มขึ้นเป็น 2.769 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2.2462 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ กลับทิศจากที่เคยขาดดุลน้อยลง เพราะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในช่วงรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเดียวกันสหรัฐก็นำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและเกาหลีใต้สูงสุดทุบสถิติเช่นกัน

การนำเข้าที่พุ่งสูง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตให้ทันและเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งทะยาน เนื่องจากผู้ผลิตมีทรัพยากรสำหรับการผลิตค่อนข้างจำกัด ประกอบกับเกิดภาวะคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการขาดดุลการค้าจะมากขึ้นไปอีก และจะดำรงอยู่กับเศรษฐกิจอเมริกาตลอดปีนี้ เพราะว่าความต้องการของผู้บริโภคสูงกว่าศักยภาพการผลิตของผู้ผลิต

การดีดตัวอย่างแข็งแกร่งของดีมานด์ภายในสหรัฐ เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเร่ง “ฉีดวัคซีน” โดยล่าสุดอนุญาตให้ชาวอเมริกันอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถฉีดวัคซีนได้ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจจากรัฐบาลเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากจากธนาคารกลางสหรัฐ เหล่านี้คือปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐบูมเร็วและออกจากวิกฤตโควิด-19 ได้เร็วกว่าคาด

“บิล อดัมส์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งพีเอ็นซี ระบุว่า การที่รัฐบาลแจกเงินให้กับชาวอเมริกันโดยตรง โดยรอบใหม่แจกอีกคนละ 1,400 ดอลลาร์ ทำให้ชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายเงินตลอดช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในประเทศประเภทที่มีการสัมผัสสูงเกิดข้อจำกัดด้านการผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าหลังจากสหรัฐสามารถควบคุมไวรัสได้แล้ว ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าต่างประเทศน้อยลง การนำเข้าสินค้าก็จะลดลงไปเอง

สำหรับการส่งออกของสหรัฐเดือนมีนาคม ขยายตัวเช่นกัน แต่ยังน้อยกว่าการนำเข้า กล่าวคือ อยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์หรือเติบโต 6.6% ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้การส่งออกน่าจะเร่งตัวเมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศและมีชาวต่างชาติเดินทางมาเรียนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ก็เชื่อว่าจะช่วยให้การค้าในภาคบริการของอเมริกาดีขึ้น

ถึงแม้จะขาดดุลการค้า แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็เติบโตมากถึง 6.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ถือว่าเป็นการขยายตัวรายไตรมาสมากสุดเป็นอันดับสองนับจากปี 2003 เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ถูกอั้นไว้นาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่าไตรมาส 2 ปีนี้จีดีพีน่าจะเติบโตในระดับสองหลักหรือ 10% ขึ้นไป ทำให้ตลอดปีนี้จีดีพีสหรัฐจะขยายตัวที่ 7% หรือมากที่สุดนับจากปี 1984 หลังจากติดลบ 3.5% ในปีที่แล้วหรือเลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปี

ตามข้อมูลของ “จอห์นส์ ฮอปกินส์” จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐลดลงอย่างมากทั่วประเทศ โดย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม ค่าเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อใหม่รอบ 7 วันลดลงต่ำกว่า 50,000 คนต่อวันเป็นครั้งแรกนับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หรือลดลง 17% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ขณะที่ผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตก็ลดลงเช่นกัน หลังจากชาวอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวอเมริกันมากกว่า 100 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในอนาคตจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐจะลดลงอีกเรื่อย ๆ