“หัวเว่ย” ลงสนามยานยนต์ ปิดดีล ‘โฟล์ค’ เย้ยสหรัฐ

ตลอดปีที่ผ่านมา “หัวเว่ย เทคโนโลยี่” ยักษ์เทคจีนเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ถูกคว่ำบาตรของสหรัฐด้วยข้อกล่าวหาว่าทำหน้าที่สอดแนมให้รัฐบาลจีน แต่ล่าสุด “หัวเว่ย” ประสบความสำเร็จในการปิดดีลกับอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก ที่อาจทำให้หัวเว่ยกลับมาขึ้นแท่นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า หัวเว่ยประกาศว่าบริษัทได้บรรลุข้อตกลงอนุญาตการใช้สิทธิบัตรกับซัพพลายเออร์รายใหญ่ของค่ายรถยนต์อย่าง “โฟล์คสวาเกน” โดยซัพพลายเออร์ดังกล่าวจะสามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เชื่อมต่อและใช้เทคโนโลยี “4 จี” ของหัวเว่ย

ทั้งนี้ หัวเว่ยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว แต่แหล่งข่าวคาดว่าบริษัทในลักเซมเบิร์ก “โรลลิ่งไวร์เลส” เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีเชื่อมต่อเครือข่าย 4 จี และ 5 จี ให้กับค่ายรถยุโรป

ขณะที่โฟล์คสวาเกนระบุว่า การบรรลุข้อตกลงสิทธิบัตรครั้งนี้เป็นตัวอย่างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างอุตสาหกรรมยานยนต์กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสาร โดยคาดว่าเทคโนโลยี 4 จีของหัวเว่ยจะถูกนำไปใช้ผลิตรถยนต์โฟล์คสวาเกนในรุ่นที่มีคุณสมบัติเชื่อมต่อแบบไร้สายกว่า 30 ล้านคัน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นการบรรลุข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรในอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย จากเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ร่วมกับ “อาร์กฟอกซ์” ค่ายรถยนต์สัญชาติจีนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าคันแรกที่ใช้โซลูชั่นยานยนต์อัจฉริยะ “หัวเว่ย เอชไอ” บนระบบปฏิบัติการ “ฮาร์โมนีโอเอส” และชิปไลดาร์ ซึ่งเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี 5 จีของหัวเว่ยทั้งหมด

“ซ่ง หลิ่วผิง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ยระบุว่า ในฐานะบริษัทนวัตกรรมเราเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีไร้สายชั้นนำที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ และบริษัทมีความยินดีที่ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมตระหนักถึงคุณค่าของเทคโนโลยีเหล่านี้

ทั้งนี้ การอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรเทคโนโลยีถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของหัวเว่ย ในการลดผลกระทบจากที่รัฐบาลสหรัฐประกาศแบนการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีของหัวเว่ยในหน่วยงานรัฐ และโน้มน้าวให้เอกชนและชาติพันธมิตรร่วมแบนหัวเว่ย ทั้งยังออกระเบียบ “ไม่ให้” หัวเว่ยสามารถเข้าถึงชิปที่ผลิตหรือพัฒนาจากเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐ

โดยจำนวนข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของหัวเว่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้หัวเว่ยได้ลงนามข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร รวมถึงข้อตกลงแบบข้ามสิทธิ กับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกแล้วกว่า 100 ฉบับ ซึ่งคาดว่ามูลค่าของข้อตกลงระหว่างปี 2019-2021 ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งเหล่านี้ทำให้หัวเว่ยยังคงเอาตัวรอดได้ท่ามกลางแรงกดดันของสหรัฐ

การปิดดีลกับซัพพลายเออร์ของโฟล์คสวาเกน จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกลับมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกของหัวเว่ย แม้ว่าข้อตกลงครั้งนี้จะยังเป็นการใช้เพียงเทคโนโลยี 4 จีในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ “วิลล์ หว่อง” นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดไอดีซีสิงคโปร์ระบุว่า 5 จีอาจจะยังไม่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในตอนนี้ แต่จะมีความสำคัญต่อยานยนต์ทุกชนิดในอนาคต

นี่จึงอาจเป็นการปูทางสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5 จีของหัวเว่ยในอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ที่สั่นคลอนความมั่นคงของสหรัฐอีกครั้ง