จับตาทิศทางราคาน้ำมันโลก หลังความตกลง ‘โอเปกพลัส’

แท่นเจาะน้ำมัน
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ความเคลื่อนไหวในแวดวงน้ำมันดิบโลกกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง เมื่อกลุ่มพันธมิตร “โอเปกพลัส” ประกาศความตกลงเรื่องการเพิ่มกำลังการผลิตได้สำเร็จในการประชุมเมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“โอเปกพลัส” ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) กับชาติผู้ผลิตน้ำมันสำคัญ ๆ นอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย ตกลงกันที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นจากที่เคยถูกจำกัดอยู่ภายใต้ความตกลงลดกำลังการผลิตก่อนหน้านี้อีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ไปจนถึงสิ้นปี

นั่นหมายความว่า เมื่อถึงสิ้นปีตลาดจะมีผลผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศ

และเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มเอง ซึ่งทำให้ความตกลงที่ว่านี้ต้องล่าช้าออกมามาก ที่ประชุมตกลงเพิ่ม “ฐานการผลิต” ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตพื้นฐานก่อนการจัดสรรโควตาเพิ่มหรือลดของ 5 ชาติสมาชิกให้สูงขึ้น

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ ถูกปรับฐานการผลิตให้สูงขึ้นอีก 332,000 บาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่พฤษภาคม 2022 เป็นต้นไป ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียจะได้เพิ่มอีกชาติละ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่อิรักกับคูเวตได้เพิ่มรวดเดียวชาติละ 150,000 บาร์เรลต่อวัน

โอเปกพลัสตกลงกันยุติการจำกัดการผลิตในเดือนกันยายนปี 2022 โดยจะยึดเอาสภาวะแวดล้อมของตลาดในเวลานั้นเป็นเครื่องชี้ขาดกันอีกครั้ง

ทั้งหมดนั้นนำมาสู่คำถามสำคัญก็คือ แล้วนับแต่นี้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้นหรือดิ่งลง

เป็นคำถามง่าย ๆ ที่หาคำตอบยาก นักวิเคราะห์ยังมีความคิดเห็นแตกกันไปคนละทาง ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเวลานี้เป็นอย่างไร

ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นตัว หลายชาติเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันมากขึ้นเรื่อย ๆ สหราชอาณาจักรคือตัวอย่างล่าสุดของแนวคิดนี้

แต่อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่า กระบวนการฟื้นตัวกำลังเริ่มต้นขึ้นจริง แต่การฟื้นตัวไม่เร็วพอและไม่สม่ำเสมอพอที่จะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเร็วอย่างที่ “โอเปกพลัส” คาดการณ์ไว้ ภาคพื้นอเมริกาตอนเหนือกับยุโรปฟื้นตัวก็จริง แต่ในเอเชียและชาติกำลังพัฒนาในแอฟริกาและอเมริกาใต้ยังล้าหลังในการจัดการกับโควิด-19 อยู่มากเหลือเกิน

ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย จากการวิเคราะห์ของเรฟินิทีฟ ออยล์ รีเสิร์ชชี้ให้เห็นว่า ในเดือนกรกฎาคมชาตินำเข้าน้ำมันในเอเชียเกือบทั้งหมดนำเข้าน้ำมันลดลง โดยภาพรวมทั้งภูมิภาคคาดว่าจะนำเข้าน้ำมันเพียง 22.59 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนนี้ ลดลงจาก 23.78 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนมิถุนายน และ 23.04 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม

ในเดือนกรกฎาคม “อินเดีย” ผู้นำเข้าอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียรองจากจีน นำเข้าน้ำมันเพียง 3.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับ 4.14 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน รวมทั้ง “จีน” ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 9.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 9.81 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนก่อน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นมีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่นำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มเพียงเล็กน้อย

“ไคลด์ รัสเซลล์” นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สชี้ให้เห็นด้วยว่า ในเวลาเดียวกันราคาน้ำมันดิบที่ชาติในเอเชียซื้อขายกันจริง ๆ กับราคาตลาดบนกระดาษยังมีส่วนต่างกันอยู่มาก สะท้อนให้เห็นจากดัชนีที่เรียกว่า “เบรนต์-ดูไบเอ็กซ์เชนจ์สวอป” ซึ่งถ่างกว้างมากถึง 3.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดังนั้น ในระยะสั้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในการควบคุมของโอเปกพลัสก็จริง แต่ไม่น่าจะถีบตัวสูงถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างที่ธนาคารเพื่อการลงทุนบางแห่งหรือนักวิเคราะห์บางคนว่าไว้

ในระยะยาวกว่านั้นไม่แน่นักเราอาจได้เห็น “ความขัดแย้ง” เรื่องโควตาการผลิตกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง เร็วกว่าที่คาดคิดกัน

เพราะระดับราคาน้ำมันดิบโลกในเวลานี้ถีบตัวขึ้นไปสูงกว่าระดับราคาก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว