
แรงงานอิสระ ที่เน้นการรับจ้างทำงานแบบชั่วคราว หรือที่เรียกว่า gig worker เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางการเติบโตของโลกเทคโนโลยี แต่กิ๊กเวิร์กเกอร์กลับไม่อยู่ในระบบของบริษัทผู้จ้างและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานเท่าที่ควร ทำให้ประเทศจีนที่มีกิ๊กเวิร์กเกอร์อยู่เป็นจำนวนมาก ต้องเร่งกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มนี้
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมจีน (MHRSS) เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เกี่ยวกับการประชุมร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ 11 ราย เพื่อหารือและรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอิสระมากยิ่งขึ้น
- ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.หย่าภรรยามาแล้ว 5 ปี มีทรัพย์สินลดลง 31 ล้าน
- หวั่นสงคราม “ชิป” ป่วนโลก “เสี่ยวหมี่” เล็งปักหมุดอีอีซี
- คนละครึ่งเฟส5 รับ 800 บาท ลงทะเบียน ยืนยันสิทธิวันไหน ช่องทางใด
โดยมีบริษัทเทคโนโลยีหลายรายเข้าร่วมการประชุม ไม่ว่าจะเป็นยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา กรุ๊ป” “เทนเซ็นต์” รวมถึงผู้ให้บริการไรด์เฮลลิ่งรายใหญ่อย่าง “ตีตี ชูสิง” และ “เชา เชา โมบิลิตี” รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่อย่าง “เหม่ยถวน” “เอ้อเลอเมอ” (Ele.me)
โดยการประชุมดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม ร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (SAMR) และสหพันธ์สหภาพแรงงานจีน (ACFTU) ได้ออก “คำสั่งทางการปกครอง” (administrative instruction) ระบุให้บริษัทต้องเข้าใจความต้องการของแรงงานอย่างลึกซึ้ง เพิ่มการดูแลคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง แก้ไขอัลกอริทึมและกฎระเบียบด้านแรงงานบนแพลตฟอร์ม รวมถึงปรับปรุงกลไกภายในองค์กร
คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบภาคธุรกิจจีนในประเด็นด้านสิทธิแรงงาน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2021 โดยมีเป้าหมายในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าแรงที่เหมาะสม ความปลอดภัยในการทำงาน และสิทธิประกันภัยของแรงงานที่อยู่ใน “การจ้างงานรูปแบบใหม่” ซึ่งครอบคลุมกลุ่มกิ๊กเวิร์กเกอร์
ทั้งนี้ “กิ๊กเวิร์กเกอร์” หมายถึงแรงงานอิสระที่รับทำงานให้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าตามความต้องการของบริษัท เช่น พนักงานฟู้ดดีลิเวอรี่ ผู้ขับขี่ไรด์เฮลลิ่ง และตำแหน่งงานอื่น ๆ ใน “กิ๊กอีโคโนมี” ซึ่งมีลักษณะเป็นการจ้างงานชั่วคราว ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างไปจากพนักงานประจำ
กิ๊กอีโคโนมีของจีนนับว่ามีขนาดใหญ่ โดยในปี 2020 จีนมีแรงงานประมาณ 200 ล้านคน ที่จัดอยู่ในกลุ่ม “การจ้างงานแบบยืดหยุ่น” ทางบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ตีตี ชูสิง” มีผู้ขับไรด์เฮลลิ่งราว 4 ล้านคน ขณะที่ “เหม่ยถวน” มีพนักงานฟู้ดดีลิเวอรี่ที่เป็นพนักงานเต็มเวลาราว 1 ล้านคน แต่มีการจดทะเบียนเป็นพนักงานดีลิเวอรี่กับบริษัทสูงเกือบ 10 ล้านคน
ซึ่งบริษัทผู้จ้างงานถูกวิจารณ์ว่าขาดการคุ้มครองแรงงานส่วนนี้มาอย่างยาวนาน เช่น ไม่มีการคุ้มครองความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน หรือแรงกดดันที่แรงงานได้รับจากการปฏิบัติตามกรอบเวลาที่เข้มงวดของแพลตฟอร์ม โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ตาม การแสดงบทบาทดูแลสิทธิแรงงานของทางการจีนเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมปราบปรามบริษัทยักษ์ใหญ่ ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง เพื่อสร้าง “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
“เจนนี่ ชาน” ผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง ระบุว่า “บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รวมถึงสตาร์ตอัพจำเป็นต้องรับฟังและประนีประนอม ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และทำให้การดำเนินธุรกิจไม่ได้รับความสะดวก”
นอกจากนี้การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มแรงงานยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับทางการจีนในการเข้าไปจัดการควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2021 ที่ผ่านมา