1 ปีรัฐประหาร เมียนมา เผด็จการทุบเศรษฐกิจดิ่งนรก

เมียนมาร์

นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมียนมากลับสู่ยุคทมิฬใต้เงาเผด็จการอีกครั้ง หลังกองทัพพม่า หรือ “ทัตมาดอว์” (Tatmadaw) ทำรัฐประหารพรรคเอ็นแอลดีที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสต่อต้านบนท้องถนน พลเรือนถูกจับกุมกว่า 11,000 คน ถูกสังหารอีกกว่า 1,400 คน บางรายเข้าป่าร่วมรบกับชนกลุ่มน้อย บางรายลี้ภัยมายังประเทศเพื่อนบ้าน อีกไม่น้อยที่จำต้องใช้ชีวิตในประเทศต่อไป ท่ามกลางเสียงปืนซึ่งยังคงคละคลุ้งรายวัน

ก่อนปี 2010 เมียนมาประสบปัญหาเรื้อรังมาตลอด 50 ปี ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ กระทั่ง 2011 เศรษฐกิจและมาตรฐานครองชีพของประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้รัฐบาลผสมกึ่งพลเรือนจากการนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า นับตั้งแต่พม่ามีรัฐบาลพลเรือน เศรษฐกิจประเทศมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 6.6% ต่อปี ชาวพม่าที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงจาก 48.2% ในปี 2005 เหลือ24.8% ในปี 2017

เว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรั่ม เผยบทความที่ชี้ว่า รัฐประหาร 1 ก.พ. เปลี่ยนทุกอย่างโดยสิ้นเชิงชนิดดิ่งเหว นักธุรกิจต่างชาติแห่ถอนการลงทุนจากเมียนมา ตลอด 3 เดือนหลังรัฐประหาร เอกชนระงับแผนลงทุนประเมินมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 6 พันล้านดอลลาร์

องค์การแรงงานระหว่างประเทศประเมินว่า ชาวเมียนมา 1.2 ล้านคน ตกงานทันทีในปีที่แล้ว เงินจ๊าตที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ต้นทุนอาหารพื้นฐานที่จำเป็น เดือน ต.ค. 2021 สูงขึ้น 29% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ของปีเดียวกัน

ความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรงกลายเป็นข้อกังวลหลัก เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ชาวเมียนมาต้องอพยพหนีสู้รบกว่า 3 แสนคน ต้นปี 2022 ยูเอ็นคาดว่าประชากรครึ่งหนึ่งอาจจมดิ่งสู่ความยากจน โดยประชาชนประมาณ 14.4 ล้านคน ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตย่างกุ้ง 17% และมัณฑะเลย์ 16% บางครอบครัวต้องขายอุปกรณ์ทำมาหากิน นี่ยังไม่นับรวมผู้คนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบกับทหาร

เมื่อ 26 ม.ค. 2022 ธนาคารโลกออกรายงานคาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2021 (สิ้นสุดลงเดือน ก.ย. 2022) เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัวเพียง 1% เนื่องจากปีก่อนหน้าที่ติดลบถึง 18% นอกจากนี้ ยังคาดว่า เศรษฐกิจของเมียนมาน่าจะขยายตัวถึง 30% หากไม่มีผลกระทบจากโรคระบาดและรัฐประหารเกิดขึ้น

“แม้บางด้านจะมีสัญญาณบ่งชี้ถึงเสถียรภาพ แต่คาดการณ์เศรษฐกิจยังคงอยู่ในทิศทางเดิมและทรุดหนัก นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมายังคงรับผลกระทบจากจุดอ่อนสำคัญทั้งอุปสงค์และอุปทาน บริษัทต่าง ๆ รายงานยอดขายและกำไรลดลงมาก ขาดแคลนกระแสเงินสด บริการธนาคารและอินเทอร์เน็ตที่ถูกจำกัด”

รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ว่างงานในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 1 ล้านคน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ในขณะที่ลูกจ้างหรือแรงงานมีแนวโน้มได้รับค่าจ้างน้อยลง

ความท้าทายในปี 2022 ยังคงเป็นเรื่องโควิด-19 และด้านการเมือง รวมถึงการหยุดชะงักของภาคบริการทั้งไฟฟ้า ขนส่ง และอินเทอร์เน็ต ที่รัฐบาลทหารสั่งปิดกั้นเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ ชาติตะวันตกแห่คว่ำบาตร เพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน

โดยบริษัทโททอล (Total) จากฝรั่งเศส และบริษัทเชฟรอน (Chevron) ของสหรัฐ เป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานน้ำมัน 2 รายล่าสุดที่ถอนลงทุนจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ “ยาดานา”

อุตสาหกรรมพลังงานสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี นับเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุด ทว่าเงินเหล่านี้กลับถูกส่งไปยัง Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งกองทัพยังทรงอิทธิพลในบริษัท

ล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐออกคำเตือน “ความเสี่ยงสูง” การลงทุนในธุรกิจที่กองทัพเมียนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งแท้จริงแล้ว “ทัตมาดอว์” ผูกขาดธุรกิจแทบจะทุกประเภทผ่านบริษัทโฮลดิ้ง 2 แห่ง คือ บริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) และบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. (MEHL) ที่ใช้อภิสิทธิ์ของกองทัพในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อประกอบธุรกิจ

โดยทั้งสองโฮลดิ้งมีบริษัทในเครือกว่า 106 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเหมืองพลอย อสังหาฯ ก่อสร้างพลังงาน และท่องเที่ยว เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งรายได้หลักของกองทัพเมียนมาเป็นเวลานาน

ดูเหมือนว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมียนมาแทบเป็นไปไม่ได้ หากประเทศยังคงไร้ประชาธิปไตย และรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง บรรดานายพลดาวติดบ่าเพียงไม่กี่นายคงไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่ประชาชนนับล้าน ๆ มีสภาพไม่ต่างจากอยู่ในขุมนรกทั้งเป็น