โจทย์ใหญ่ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” สวนทางกับเศรษฐกิจโลก

ดอกเบี้ยขาขึ้น
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ทั่วโลกรู้กันอยู่ว่า อัตราดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่ยังไม่แน่ชัดกันก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ว่านี้ จะเร็วและรุนแรงแค่ไหน และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร

การปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น สร้างความกังวลไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนเงินถูก ๆ มาช้านาน

ดิ อีโคโนมิสต์ ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีธนาคารกลางของประเทศมั่งคั่งในกลุ่ม จี 7 กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่า 2.5% เลยแม้แต่ประเทศเดียว เปรียบเทียบย้อนหลังกลับไปในปี 1990 จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศจี 7 ในเวลานั้นอยู่สูงเกินกว่า 5% ด้วยซ้ำไป

“อัตราดอกเบี้ยต่ำ” เปิดทางให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณขาดดุลได้มากเป็นพิเศษ และถือเป็นตัวกระตุ้นให้ราคาสินทรัพย์พุ่งสูง แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้กำหนดนโยบายก็ต้องหันมาใช้เครื่องมืออย่างอื่นในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรหรือการหว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม

ปัญหาในเวลานี้ก็คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่พุ่งขึ้นเร็วและแรงมากหลังจากความวิตกเรื่องวิกฤตโควิด-19 สร่างซาลงไป เงินเฟ้อรุนแรงและยืดเยื้อในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7% แล้ว

สินค้าที่แพงขึ้น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ในสหรัฐอเมริกาเริ่มทำให้ครัวเรือนและองค์กรธุรกิจในประเทศเกิดการคาดหวังถึงเงินเฟ้อมากขึ้นจนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าจ้างให้สูงขึ้น อันจะกลายเป็นแรงผลักดันให้ภาวะเงินเฟ้อจริง ๆ สูงยิ่งขึ้นไปอีก

การสำรวจในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาพบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะสูงขึ้นไปอีกราว 6% ในขณะที่ค่าจ้างและเงินเดือนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว 5% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนหน้า

นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ข้อบ่งชี้ก็คือ ในช่วงปีที่แล้ว มีประเทศเศรษฐกิจใหม่มากถึง 12 ประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางของอังกฤษก็ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเช่นกันถึง 2 ครั้ง หลังสุดเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

นักลงทุนคาดกันว่า ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ที่แช่แข็งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมานาน จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในปีนี้

ที่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะมีอิทธิพลต่อระบบการเงินโลกมากที่สุด และเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุด “เจอโรม พาวเวลล์” ผู้ว่าการเฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐประกาศยุติมาตรการกระตุ้นด้วยการซื้อ
พันธบัตรและรักษาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ 0-0.25% และถูกคาดหมายว่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่ช้าไม่นาน

เฟดเคยบอกเอาไว้ว่า เตรียมการไว้ว่าจะขยับอัตราดอกเบี้ยให้ขึ้นไปอยู่ในระดับ 2% ในปี 2024 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยสมดุล กล่าวคือ ไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ไม่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

ปัญหาก็คือ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยชี้ว่า เฟดขยับอัตราดอกเบี้ยช้าไปจนความเสี่ยงขึ้นไปอยู่ในระดับสูง และอาจจำเป็นต้องลงมือขึ้นดอกเบี้ย “แรงและเร็ว” กว่าที่คาดหมายกันไว้มาก

ที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและสูงมากเพราะ ภาวะเงินเฟ้อที่คาดหวัง จะทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งผู้กู้ยืมต้องชำระลดลงชดเชยกับความพยายามควบคุมของเฟดจนไม่ก่อให้เกิดผล

ผลก็คือ เฟด ต้องเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น และแรงขึ้น นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนคาดการณ์ว่า ในปี 2022 เพียงปีเดียว สหรัฐอเมริกา อาจขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 1.75% ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาจะสูงขึ้นแรงและเร็วจนเจ็บปวดไปตาม ๆ กัน

ในขณะที่องค์กรธุรกิจและครัวเรือนทั่วโลก กำลังอ่อนไหวยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ แม้แต่กับการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เพราะในยามนี้ หนี้ทั่วโลกนั้นสูงท่วมหัวถึง 355% ของจีดีพีรวมทั้งโลกแล้ว

ที่สำคัญก็คือ ในการดำเนินความพยายามของโลกเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อแทบทุกครั้งในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจนั่นเอง