ผูกค่าเงินรูเบิลกับ ‘ทองคำ’ ไม่ใช่ทางรอดของรัสเซีย

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

แบงก์ ออฟ รัสเซีย หรือธนาคารกลางของประเทศ ออกประกาศที่น่าสนใจมากเมื่อไม่นานมานี้้ ด้วยการกำหนด “ราคาตายตัว” ในการใช้เงินรูเบิล สกุลเงินของรัสเซียในการซื้อทองคำออกมา กำหนดไว้ว่า 5,000 รูเบิลต่อทองคำ 1 กรัม

ประกาศที่ว่านี้สร้างความประหลาดใจไปทั่ว เพราะเท่ากับเป็นการนำเอาค่าเงินรูเบิลเข้าไปผูกไว้กับทองคำ ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายประเทศใช้กันเป็นการทั่วไป แต่ไม่ใช่ในเวลานี้

วิธีการนี้ต้องย้อนหลังกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยหลังจากสวิตเซอร์แลนด์ประกาศยกเลิกวิธีปฏิบัติเช่นนี้ไปเมื่อปี 1999 ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกนำวิธีนี้มาใช้อีกเลย เพิ่งจะมีรัสเซียเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในตอนนี้นี่เอง

วิธีปฏิบัติด้วยการผูกสกุลเงินเข้ากับทองคำเช่นนี้ รู้จักกันทั่วไปในเวลานั้นว่าเป็นการนำเอาสกุลเงินนั้น ๆ เข้าไปอยู่ใน “มาตรฐานทองคำ” หรือ “โกลด์สแตนดาร์ด”

เป้าหมายแรกสุด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเป้าหมายของรัสเซียในเวลานี้เช่นกัน ก็คือ ต้องการสร้างเสถียรภาพ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสกุลเงินของตนเอง ด้วยการทำให้ “รูเบิล” เป็นที่ต้องการกันมากขึ้นในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ทำนองเดียวกันกับการบังคับให้นานาประเทศซื้อน้ำมันและก๊าซของรัสเซียด้วยเงินรูเบิล ที่รัฐบาลของประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ประกาศออกมาเมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะขยายไปสู่สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ ข้าวสาลี, นิกเกิล, อะลูมิเนียม, ยูเรเนียมและนีออน ในเวลาต่อมา

เหตุผลก็เพราะค่าเงินรูเบิลตกแบบถล่มทลายมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนมีนาคม 2022 เมื่อพันธมิตรตะวันตกประกาศแซงก์ชั่นรัสเซียเป็นการตอบโต้กับการบุกยูเครน

หลังจากการกำหนดให้ใช้รูเบิลซื้อน้ำมันและก๊าซ ค่าเงินของรัสเซียกระเตื้องขึ้น และยิ่งแข็งค่ามากขึ้น เมื่อมีการประกาศมาตรฐานทองคำมาอยู่ที่ 83 รูเบิลต่อดอลลาร์

ซึ่งใกล้เคียงอย่างยิ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินดอลลาร์กับค่าเงินรูเบิล ที่ใช้ทองคำ 1 กรัมเป็นตัวกำหนด

กล่าวคือ ราคาทองคำ 1 กรัมที่รัสเซียกำหนดไว้ที่ 5,000 รูเบิลนั้น ราคาในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 62 ดอลลาร์ ดังนั้นหากคำนวณโดยใช้ทองคำ 1 กรัมเป็นพื้นฐาน อัตราแลกเปลี่ยนก็จะอยู่ที่ราว 81 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ นั่นเอง

ผลพลอยได้ประการหนึ่งของการหันมาใช้มาตรฐานทองคำของรัสเซีย ก็คือ กระบวนการเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำให้การครอบงำของเงินดอลลาร์ในฐานะ สกุลเงินที่เป็นทุนสำรองของโลกอ่อนแอลง

แทนที่ทุกอย่างจะต้องซื้อขายกันโดยมีดอลลาร์เป็นตัวกลางในการกำหนด ราคาสินค้า หรือแทนที่ทุนสำรองของแต่ละชาติจะต้องมีดอลลาร์เป็นองค์ประกอบ หลัก เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

คำถามที่น่าสนใจก็คือ การใช้มาตรฐานทองคำครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อรัสเซียมากน้อยแค่ไหน ใช่ทางออกในการแก้วิกฤตสารพัดทั้งทางด้านการเงิน การค้า และวิกฤตเศรษฐกิจในรัสเซียหรือไม่ ? นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในระบบการเงินโลกพากันตอบคล้าย ๆ กันว่า ไม่น่าจะใช่

เพราะมาตรฐานทองคำก็มีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มากเช่นเดียวกัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1971 สหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี “ริชาร์ด นิกสัน” ประกาศยกเลิกการใช้มาตรฐานทองคำ โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามใหญ่ในเวลานั้น นั่นคือ สงครามเวียดนาม

ประเทศที่ใช้มาตรฐานทองคำจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับค่าเงินของตัวเองได้ ก็ต้องทำให้ทุกคนแน่ใจว่า พร้อมที่จะแลกเงินของตนกับทองคำได้ทุกเมื่อ ในทุกปริมาณ

นิกสันยกเลิกมาตรฐานทองคำ เพราะกลัวว่าสงครามเวียดนามที่สหรัฐทุ่มเงินลงไปมหาศาล จะส่งผลต่อความเชื่อถือของเงินดอลลาร์ หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า กลัวว่าทองคำของสหรัฐจะหมดประเทศ แล้วจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์พังทลายนั่นเอง

หากรัสเซียรับประกันว่าสามารถแลกรูเบิลเป็นทองคำได้ทุกเมื่อ ทุกปริมาณในที่สุดก็จะลงเอยเป็นแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกาในห้วงเวลานั้น คือจะเกิดปัญหากับรัสเซียขึ้นในทันทีที่ผู้ที่ถือครองเงินรูเบิลเกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพและค่าเงิน พากันนำมาแลกเป็นทองคำ

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า มาตรฐานทองคำของเงินรูเบิล จริง ๆ แล้วไม่ได้อิงอยู่กับทองคำ แต่ผูกโยงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า มีความต้องการพลังงานน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียอยู่มากน้อยแค่ไหน

ถ้าดีมานด์ที่ว่านั้นมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หรือลดลงอย่างช้า ๆ ความต้องการเงินรูเบิลก็จะยังคงอยู่

แต่ถ้าเกิดการแซงก์ชั่นพลังงานจากรัสเซียขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อใด เมื่อนั้นค่าเงินรูเบิลก็จะร่วงวูบลงในทันที แล้วก็พลอยทำให้มาตรฐานทองคำสิ้นสุดลงไปด้วย

สุดท้ายรัสเซียก็อาจจำเป็นต้องหันมาหาทางออกที่แท้จริง ก็คือ ยุติสงครามยูเครน !