Co-living Space เดือด เทรนด์ธุรกิจที่พักรูปแบบใหม่

ภาพจาก : www.hmlet.com
ภาพจาก : www.hmlet.com

การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจโรงแรมจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัว แต่ธุรกิจ “โคลิฟวิ่งสเปซ” (co-living space) กลับได้รับประโยชน์จากคนในพื้นที่ที่เข้ามาให้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่พักหลายรายมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการในท้องถิ่นที่มีความต้องการที่พักราคาประหยัดและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “แฮมเลต” (Hmlet) สตาร์ตอัพโคลิฟวิ่งสเปซ ซึ่งเปิดให้บริการในสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ประกาศควบรวมกิจการกับ “ฮาบิต” (Habyt) ผู้ให้บริการโคลิฟวิ่งสเปซรายใหญ่ในยุโรป เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 ทำให้จะกลายเป็นผู้ให้บริการที่พักโคลิฟวิ่งกว่า 8,000 ยูนิตใน 10 ประเทศทั่วโลก

ภายหลังควบรวมกิจการบริษัทจะยังคงใช้ชื่อเดิมในตลาดของตนเอง โดย “จีเซลล์ มารการาชวิลี” ซีอีโอของแฮมเลต เปิดเผยว่า “ฮาบิตกำลังมองหาช่องทางการขยายธุรกิจสู่เอเชีย ส่วนแฮมเลตก็เป็นผู้นำในเอเชียอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเข้ากันได้ดี”

ทั้งนี้ “โคลิฟวิ่งสเปซ” ได้รับความสนใจจากความแปลกใหม่ในการให้บริการ โดยทั่วไปแล้วผู้เช่าจะมีพื้นที่ส่วนตัวเพียงห้องนอน ส่วนพื้นที่ใช้สอยอย่าง ห้องครัว ห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่ซักล้างจะต้องใช้งานร่วมกับผู้เช่ารายอื่น โดยผู้ให้บริการจะจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้เป็นส่วนกลาง และบางแห่งอาจให้บริการระดับโรงแรม เช่น อาหารและการทำความสะอาด

ก่อนหน้านี้ ที่พักโคลิฟวิ่งได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการที่พักระยะสั้นในราคาประหยัด แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาด โคลิฟวิ่งสเปซกลับได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการประสบการณ์พบปะผู้คนหรือบรรยากาศแปลกใหม่ รวมถึงผู้ไม่สะดวกในการทำงานแบบ “เวิร์กฟรอมโฮม” ที่บ้าน

Advertisment

ที่พักโคลิฟวิ่ง ส่วนมากยังกำหนดเวลาการเช่าขั้นต่ำที่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ซึ่งสั้นกว่าสัญญาเช่าที่พักส่วนบุคคลทั่วไปที่มักกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขณะที่มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้เช่าในการดูแลซ่อมแซมสิ่งของและที่พัก ส่งผลให้
โคลิฟวิ่งสเปซสามารถตอบโจทย์ของผู้ที่ต้องการที่พักราคาประหยัดและสะดวกในระยะเวลาที่ยืดหยุ่น

ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักของแฮมเลตในเดือน มี.ค. 2565 ในสิงคโปร์สูงถึง 96% ของยูนิตทั้งหมด ส่วนในฮ่องกงก็สูงถึง 90% ซึ่งในปัจจุบันแฮมเลตให้บริการที่พักกว่า 1,200 ยูนิต และเตรียมจะเพิ่มจำนวนเป็น 2,300 ยูนิตภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่การแข่งขันในตลาดที่พักโคลิฟวิ่งร้อนแรงมากขึ้น นอกจากกรณีของแฮมเลตและฮาบิตแล้ว เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2565 “วีฟ ลิฟวิ่ง” (Weave Living) ผู้ให้บริการโคลิฟวิ่งสเปซอีกรายในสิงคโปร์และฮ่องกง ยังร่วมกับบริษัททุนเข้าซื้อ “โรสเดล โฮเต็ล” โรงแรม 435 ห้องพักในฮ่องกง มูลค่า 1,370 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อขยายบริการที่พักโคลิฟวิ่ง

นอกจากนี้ “ดิ แอสคอตต์” (The Ascott) เชนโรงแรมรายใหญ่ของสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันให้บริการโคลิฟวิ่งภายใต้แบรนด์ “ไลฟ์” (lyf) จำนวนกว่า 3,200 ยูนิตในหลายประเทศ ก็ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนที่พักโคลิฟวิ่งเป็นมากกว่า 30,000 ยูนิตภายในปี 2030

Advertisment

“จูเลียน ลาลอย” รองประธานกลุ่มโรงแรมและการบริการของ “โจนส์ แลง ลาซาลล์” (JLL) เอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า “ที่ผ่านมา เราได้เห็นการควบรวมของผู้ประกอบการโรงแรม เช่น สตาร์วูด และแมริออท เราคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโคลิฟวิ่ง ด้วยการจัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ประกอบการก็จะสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นเช่นกัน”