เปิดเหตุผล ทำไมแบงก์จ่ายปันผลพุ่ง “SCB-BBL” ทำสถิติใหม่

เปิดเหตุผล ทำไมแบงก์จ่ายปันผลพุ่ง “SCB-BBL” ทำสถิติใหม่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) รายงานผลประกอบการปี 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไปกันแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมสูงถึง 231,613 ล้านบาท ปัจจุบันมีด้วยกัน 3 แบงก์ที่ประกาศจ่ายเงินปันผลกันไปแล้วคือ SCB, BBL, TTB (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.พ. 2567)

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมการจ่ายปันผลของแต่ละธนาคาร และเทียบเคียงช่วงที่ผ่านมาว่า จ่ายเพิ่มขึ้นกันมากน้อยแค่ไหนหลังจากโกยกำไรทะลัก ในจังหวะส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิพุ่งตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ผู้ถือหุ้น SCB เฮ! ได้ปันผลเพิ่ม 3.65 บาท

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 5 เม.ย. 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 10.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 34,816 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 ตามงบการเงินรวม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท

โดย SCB ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,418 ล้านบาท ดังนั้นจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนี้อีกหุ้นละ 7.84 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,398 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิปี 2566 โดยวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 18 เม.ย. 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 พ.ค. 2567

Advertisment

หากย้อนกลับไปดูเงินปันผลในปี 2565 ที่จ่ายไปทั้งหมด 6.69 บาท/หุ้น จะสะท้อนให้เห็นถึงว่าปี 2566 ทาง SCB มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นกว่า 3.65 บาท/หุ้น

BBL ปันผลสูงกว่าปีก่อน 2.50 บาท

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 เม.ย. 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 13,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.60 โดยเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสะสม

โดย BBL ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ในอัตราหุ้นละ 2 บาท ดังนั้นจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนี้อีกหุ้นละ 5 บาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 24 เม.ย. 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 พ.ค. 2567

หากย้อนกลับไปดูเงินปันผลในปี 2565 ที่จ่ายไปทั้งหมด 4.50 บาท/หุ้น จะสะท้อนให้เห็นถึงว่าปี 2566 ทาง BBL มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นกว่า 2.50 บาท/หุ้น

Advertisment

TTB ปันผลเพิ่มขึ้น 0.032 บาท

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.105 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 10,196 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55% ของกำไรสุทธิปี 2566

โดย TTB ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,855 ล้านบาท ดังนั้นจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนี้อีกหุ้นละ 0.055 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,341 ล้านบาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 18 เม.ย. 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 8 พ.ค. 2567

หากย้อนกลับไปดูเงินปันผลในปี 2565 ที่จ่ายไปทั้งหมด 0.073 บาท/หุ้น จะสะท้อนให้เห็นถึงว่าปี 2566 ทาง TTB มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นกว่า 0.032 บาท/หุ้น

BBL กลับมาจ่ายปันผลเท่าพรีโควิด

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการจ่ายเงินปันผลของ SCB ในปี 2566 ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ SCB มีความเพียงพอของอัตราส่วนเงินกองทุนที่ระดับสูง และมีนโยบายในการบริหารผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) จึงมีการยกระดับการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้น ส่วนในระยะข้างหน้าประเมินว่าจะมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ในระดับ 60-80% ของกำไรสุทธิ

สำหรับการจ่ายปันผลของ BBL ถือว่ากลับไปจ่ายปันผลเท่ากับเมื่อช่วงพรีโควิด (ปี 2562) สะท้อนการจ่ายปันผลกลับสู่ระดับปกติแล้ว ส่วน TTB ถือว่ายังจ่ายปันผลใกล้เคียงเดิม ไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นมาก

ข้อดี-ข้อเสีย SCB จ่ายปันผลสูง

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า SCB มีความพิเศษคือปี 2566 มีกำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น และยังเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) สูงขึ้นด้วย จากปี 2565 จ่ายระดับ 60% ในปี 2566 จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 80% ขณะที่ BBL จ่ายปันผลเพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิที่เติบโต 40% แต่ Dividend Payout Ratio ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

“อย่านำเงินปันผล SCB มาเป็นเกณฑ์ เพราะจ่ายสูงเกินไปเมื่อเทียบปีก่อนหน้า ซึ่งอาจจะดูเว่อร์ไปหน่อย” นายธนเดชกล่าว

ทั้งนี้ในปี 2567 หาก SCB มีผลประกอบการเติบโตมาก มองว่าก็อาจจะไม่ได้จ่ายปันผลสูงเท่าระดับนี้ ซึ่งคงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การเติบโต โดย Dividend Payout Ratio ที่จ่ายระดับ 80% ของกำไรสุทธิ มีข้อดีคือ ผู้ถือหุ้นได้เงินมาก และช่วยบริหารเงินทุนให้ดีขึ้นคือ ทำให้ ROE มีโอกาสไปถึงระดับสองหลักที่เร็วขึ้น

แต่มีข้อเสียคือ บริษัทที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูง โดยธรรมชาติไม่ควรจ่ายปันผลสูง ซึ่งทาง SCB ประกาศจะเป็น Tech Company และตั้งเป้าการเติบโต จึงมองว่าควรจะต้องกันเงินบางส่วนเอาไว้เผื่อเป็นสภาพคล่องเพื่อการลงทุน และรองรับการเติบโต โดยควรจะเอาเงินไปลงทุนหรือปล่อยกู้ เพราะมีบริษัทลูกหลายแห่ง เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อดิจิทัล ซึ่งยังต้องใช้เงินอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบกับการลงทุนในระบบดิจิทัลแอสเสตยังต้องใช้เงินพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจจ่ายปันผลของ SCB อาจจะอ่านเกมได้ว่าปี 2567 จะไม่เร่งการเติบโตมากนัก