แอสตร้าเซนเนก้า เดินหน้ากลยุทธ์ ESG เพราะสุขภาพคน-โลก คือเรื่องเดียวกัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “มนุษย์” ต่างทำลายโลก ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง สร้างผลกระทบต่อโลกมหาศาล ซึ่งผลกระทบนี้เองกำลังออกดอกผลคืนกลับมาสู่เราในรูปแบบต่างๆ 

ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงเกิดกติกาใหม่ของโลกขึ้น คือ อีเอสจี (ESG) หรือแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เน้นความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งด้านผลประกอบการ ภาพลักษณ์-ชื่อเสียงองค์กรควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน อีกทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ 

กฎกติกาดังกล่าว กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดงาน “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย จัดโดย ประชาชาติธุรกิจในเครือมติชน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ภายในงานมีการเชิญนักธุรกิจและผู้บริหารองค์กรชั้นนำมาร่วมค้นคำตอบ สร้างจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจไทยได้เดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

ตอนหนึ่งของเวทีเสวนา เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า  (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฉายภาพบทเรียนทางธุรกิจและสังคม ต่อสถานการณ์โควิด-19 ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความสำคัญและการนำแนวคิด ESG มาปรับใช้กับธุรกิจของแอสตร้าเซนเนก้า ในหัวข้อเส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด ว่า

ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ประสบการณ์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดมอบบทเรียนหลายประการให้เราได้ประจักษ์ เช่น กิจกรรมต่างๆ ล้วนจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ สะท้อนถึงการปรับตัวของผู้คนด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ 

ตอนนี้เราสามารถกลับมาจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์ ที่สามารถพบปะได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นถึงภาพความยิ่งใหญ่ การร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนประเทศไทยสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จากคำว่า การระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) สู่คำว่า โรคประจำถิ่น (endemic) เป็นที่เรียบร้อย และบทเรียนสุดท้ายคือ เราได้เรียนรู้ว่าผู้คนให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องสุขภาพมากแค่ไหน” 

    ทั้งหมดเป็นบทเรียนที่สังคมได้รับจากการถือกำเนิดของเชื้อไวรัส แม้โควิด-19 จะกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างหนัก แต่ต้องไม่ลืมว่า ผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนหนักหน่วงยิ่งกว่า และส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วอายุคน เพราะสุขภาพของผู้คนและสุขภาพของโลกนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด 

แอสตร้าเซนเนก้า ในฐานะองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงลงมือดำเนินการด้านต่างๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นแนวทางดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คน โดยอาศัยแนวคิด ESG มาใช้ในการวางกลยุทธ์ 

เรามีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดวิทยาศาสตร์เพื่อการดูแลสุขภาพของคนไทย ชุมชนและโลกอย่างยั่งยืนเพราะเราเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างเพียงการเติบโตของรายได้และผลกำไรนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เจมส์ ทีก เผย

ด้านสิ่งแวดล้อม วางเป้าหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2025 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับติดลบภายในปี 2030 ด้วยการขยายยุทธศาสตร์ปลอดคาร์บอนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไปจนถึงลงทุนด้านการกำจัดก๊าซคาร์บอนด้วยวิธีทางธรรมชาติ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไปจนถึงการลดของเสียและใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าที่สุด 

ด้านสังคม มุ่งจ้างงานและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อให้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยม พร้อมกับยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ป่วยทั่วโลก ด้วยการรับฟังความต้องการของผู้ป่วย แล้วนำไป

เป็นแนวทางพัฒนาและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานสุขภาพ หน่วยงานรัฐ เอกชน ในแต่ละประเทศ เพื่อพัฒนายาที่ตรงตามความต้องการและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้

ด้านธรรมาภิบาล มุ่งเน้นรักษามาตรฐานจริยธรรมและคุณค่าต่างๆ ในระดับสูงสุด เพื่อให้สามารถ

ตอบรับความคาดหวังของทั้งผู้ป่วย นักลงทุน และสังคมได้ โดยมาตรฐานนี้จะรวมถึงการดำเนินงานร่วมกับทีมงานที่หลากหลายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือแนวคิด ด้วยความเชื่อว่า ความหลากหลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อาศัยนโยบายที่สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมทั้งในและนอกที่ทำงาน 

ยุทธศาสตร์ ESG ไม่ใช่สิ่งที่สร้างภาระให้ธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสูงกว่าผลกระทบต่อกำไรทางธุรกิจ 

ในทางตรงกันข้าม ESG จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปรับรูปแบบการประชุมที่มุ่งให้พนักงานเดินทางน้อยที่สุด หรือประชุมออนไลน์แทน จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักลงไปพร้อมๆ กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้สร้างกำไรมากขึ้น

 ประธาน แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ย้ำ