12 นิสิตเก่า ‘สิงห์ดำ’ ดีเด่น ปี 66 ความภาคภูมิใจ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ สถาบันผลิตบุคลากรชั้นนำของประเทศ

มหาวิทยาลัยที่อยู่ของวิชาการหรือความรู้อันยิ่งใหญ่ สถานที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ผ่านการมุ่งสร้างบัณฑิตคุณภาพ พัฒนาคนสู่การเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ผู้ที่เคยเรียนจบจากสถาบันการศึกษานั้น ๆ แม้จะแปรเปลี่ยนสถานะจากศิษย์ปัจจุบันเป็นศิษย์เก่า แต่ความภาคภูมิใจในสถาบัน ความรู้ที่สั่งสม ความทรงจำของรุ่นพี่ เพื่อนพ้อง จะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้า และเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติที่ติดตัวไว้ตลอดไป

เป็นที่ทราบกันดีว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถือได้ว่าเป็นคณะวิชาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเป็นคณะรัฐศาสตร์แห่งแรกของไทย และเป็น 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของจุฬาฯ ไม่เพียงเท่านั้น คณะรัฐศาสตร์แห่งนี้ยังเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรชั้นนำสู่การเป็นกำลังสำคัญของประเทศมาหลายต่อหลายคน

ที่ผ่านมา นิสิตเก่า “สิงห์ดำ” หลายท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน มีความประพฤติดี ได้รับการยกย่องนับถือจากสังคมทั่วไป นับเป็นการนำชื่อเสียงมาสู่สถาบันการศึกษา นอกจากนี้ยังตอบแทนพระคุณของสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีความเสียสละและอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นที่มาของรางวัล “นิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีเด่น ประจำปี 2566” จำนวน 12 ท่าน ดังนี้

สาขาข้าราชการประจำ ได้แก่

1) นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ (รุ่นที่ 32) อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย

2) นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ (รุ่นที่ 33) เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

Advertisment

3) นายวันชัย คงเกษม (รุ่นที่ 35) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

4) นายกีรติ รัชโน (รุ่นที่ 39) ปลัดกระทรวงพาณิชย์

Advertisment

5) นางแพตริเซีย มงคลวนิช (รุ่นที่ 42) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

6) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ (รุ่นที่ 42) อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

สาขานักวิชาการ ได้แก่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (รุ่นที่ 38) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาขาพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ นางภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ (รุ่นที่ 34) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมอาวุโส ธนาคารโลก

สาขาธุรกิจเอกชน หรือวิชาชีพอิสระ หรือองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (รุ่นที่ 38) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

สาขาองค์กรอิสระของรัฐและองค์การมหาชน ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา (รุ่นที่ 25) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

กรณีเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ (รุ่นที่ 24) ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และ 2) รศ.ตระกูล มีชัย (รุ่นที่ 26) รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพออกมาขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ โดยทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งที่หล่อหลอมให้มีวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคณะและสถาบันที่ช่วยปลูกฝังและกล่อมเกลา

นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ (รุ่นที่ 32) อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เล่าว่า ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เห็นรถเอกอัครราชทูตของสหรัฐ ที่มีธงติดอยู่ เกิดคำถามว่าทำไมรถติดธงได้ จนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ว่าเพราะเขาเป็นนักการทูต ตั้งแต่นั้นจึงใฝ่ฝันอยากนั่งรถที่มีธงติด เป็นจุดที่ทำให้ชีวิตหันเหเข้ามาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ 

“การเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้เรามีคอนเน็กชั่นกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราไปอยู่ประเทศที่มีความใกล้ชิดประเทศไทย เป็นบ้านพี่เมืองน้อง ต้องติดต่อตลอดเวลา สำหรับการรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือต้องมีความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะเวลาอยู่ต่างประเทศ ถ้าเราเป็นหัวหน้าแล้ว ไม่มีหัวหน้าที่ใหญ่กว่าเรา ตอนนั้นเองเราต้องเป็นคนตัดสินใจหลายอย่างด้วยตัวเอง” 

ด้าน นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ (รุ่นที่ 33) เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า คณาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทุกท่าน รวมทั้งรุ่นพี่ ให้ความเป็นกันเองอย่างมาก รวมถึงสร้างความอบอุ่น โดยสิ่งที่อยากส่งต่อน้อง ๆ และนิสิตรุ่นต่อไป คือเรื่องของมิตรภาพ โดยฝากทิ้งท้ายว่า การมีมิตรภาพที่ดีจะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความอบอุ่น ความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืน และมิตรภาพจะสร้างให้เกิดความผาสุก

นายวันชัย คงเกษม (รุ่นที่ 35) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี บอกว่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้หล่อหลอมให้เป็นคนที่รักพวกพ้อง พี่น้อง และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ สิ่งสำคัญก็เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ

“ด้วยพระคุณครูบาอาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้สั่งสอน ทำให้ไม่ว่าจะเป็นนิสิตเก่า นิสิตใหม่ มีความรู้ด้านวิชาการ มีความรู้ในด้านวิถีดำรงตน และได้นำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้จนกระทั่งประกอบอาชีพรับราชการ หรือประกอบอาชีพที่ตนได้สังกัด”

ขณะที่ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ (รุ่นที่ 42) อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าว่า เกือบครึ่งชีวิตส่วนหนึ่งตอนสมัยเรียน ตนอยู่บนถนนอังรีดูนังต์ โดยเรียนที่สาธิตปทุมวัน ทุกครั้งที่มีการไหว้ครู ต้องไหว้ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มีความผูกพันกับจุฬาฯ เพราะใกล้ชิดกัน

“เราก็คิดว่าพอจบมาจะทำอะไร มางานประจำปีทุกปี เห็นพี่ ๆ มีโอกาสได้รับรางวัล และทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง เลยมาคิดกับตัวเองว่า ถ้าเราไปทำงานภาคเอกชน เราทำดี เราเก่ง ผลประโยชน์ก็ตกกับบริษัทบริษัทหนึ่ง แต่ถ้าทำงานรับราชการ ถึงจะอยู่ตรงไหน เราเป็นฟันเฟืองหนึ่ง ประโยชน์มันก็จะตกอยู่กับส่วนรวม คือ ประเทศชาติ”

“พอได้เติบโตเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ก็ได้ไปร่วมงานสมาคมสิงห์ดำล้านนาภาคเหนือ เจอพี่เก่า ๆ เขาก็ฝากไว้อย่างเดียวว่า ‘ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่ตลอดไป’ คือให้สร้างตำแหน่งให้เป็นตำนาน อยู่ให้คนประทับใจ จากไปให้เขาคิดถึง”

และทั้งหมดนี้เป็นเพียงความรู้สึกส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับรางวัลนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีเด่น ประจำปี 2566 บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน เหล่าสิงห์ดำที่มีปณิธานมุ่งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ยิ่งใหญ่และเหนียวแน่น ดังคำประกาศนามของชาวรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่กล่าวว่า

“นี่แหละนักรัฐศาสตร์

นี่แหละสิงห์สีหราช

ใคร ๆ ผู้ใดมิอาจจะมาข่มขวัญ

เล่นด้วยใจเป็นนักกีฬา

ใครมาท้าเรากล้าประจัญ

เราเชียร์ เราเชียร์ เราเชียร์ให้รัฐศาสตร์”