‘คมกฤช’ เลขาธิการ กกพ. เปิดอกหมดเปลือก ถึงข้อสงสัยทำไมค่าไฟแพง ! ตอบชัดเคลียร์ทุกประเด็น

เมื่อปัญหาค่าไฟแพงกลับมาเป็นประเด็นฮิตอีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนไขข้อข้องใจกับ คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับราคาค่าไฟ เล่าถึงปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น 

ทั้งสาเหตุจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปมความขัดแย้งในต่างประเทศ รวมถึงความต้องการเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต่างส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าเดิม ดังนั้นเพื่อให้อนาคตจ่ายค่าไฟน้อยลง จึงพาไปส่องมาตรการแก้ปัญหาของ กกพ. ว่าทำอย่างไรให้ค่าไฟถูกลงและจะไม่เป็นภาระของประชาชนจนเกินไป

สาเหตุค่าไฟแพงแรงไม่หยุด

คมกฤชเล่าว่า สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% อีกทั้งต้องซื้อก๊าซ LNG ในราคาแพง ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่ยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาว ความต้องการก๊าซ LNG จึงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาแพง เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป

ฉะนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง กกพ.จึงออกมาตรการใช้น้ำมันในช่วงราคาถูกกว่าเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ LNG แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลักไม่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ทั้งหมด 

ที่ผ่านมา กกพ.พิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาตลอด และขอยืนยันว่าเชื้อเพลิง LNG เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กันอย่างถ่านหินนั้นไม่มีผลเท่าไหร่นัก เพราะราคาปรับเพิ่มไม่มาก ทำให้ค่าความพร้อมจ่ายยังคงอยู่ระดับเดิม 

ตรึงค่าไฟให้คนไทยจ่ายถูกลง

โดยโครงสร้างต้นทุนค่างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากดูตามลำดับแล้วจะพบว่าต้นทุนที่แพงที่สุด คือ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย ตามด้วยค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder และค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย 

ส่วนปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำก็ลดลงไปมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงได้สั่งการให้ กกพ.คำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย

ส่วนค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน

ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 จะลดลงเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นอัตราที่ถูกกว่างวดปัจจุบันก่อนที่จะคำนวณ

ต้นทุนลดแล้ว ทำไมค่าไฟยังไม่ลด

มีหลายคนตั้งคำถามว่า ในเมื่อต้นทุนถูกลง แต่ทำไมค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ลด นายคมกฤชอธิบายเพิ่มว่า เกิดจากหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเอฟที หรือการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ กกพ.จำเป็นต้องใช้สมมุติฐานตัวเลขต้นทุนของปี 2565 ในการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป 

ประกอบกับการประกาศค่าไฟฟ้างวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง กกพ.เองใช้สมมุติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอด ทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาเชื้อเพลิงแท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าในงวดต่อ ๆ ไป

“ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลง ยืนยันว่าไม่มีใครได้กำไรและขาดทุน เพราะว่ารอบสุดท้ายก็จะนำมาหักลบกลบหนี้กัน ในทางตรงกันข้าม ขณะที่การทำประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเกินไปก็เป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สิน และสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เช่นกัน เราต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของ กฟผ.ด้วย หากสภาพคล่องกระทบกับเครดิตของ กฟผ. จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ด้วยกัน”

แนวโน้มค่าไฟในอนาคต

แม้ กกพ.จะคาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าอาจลดลงตามแนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงช่วงปลายปี แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะยังมีปัจจัยเรื่องฤดูกาลช่วงปลายปีที่ความต้องการ LNG ในช่วงฤดูหนาวเพิ่มขึ้น รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาจจะมีผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงในอนาคตได้

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ต้องการให้การยืดการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิง กฟผ. ออกไป ต้องมองว่า กฟผ.มีภาระเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลังภาครัฐ ภาระหนี้สาธารณะ และผลกระทบต่อเครดิตของประเทศ 

หลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มของปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยจะมีเพิ่มขึ้น และมีผลในเดือน ส.ค. 2566 ซึ่ง กกพ. ก็มีการนำมาคำนวณในค่าไฟแล้ว ซึ่งต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลงจะเป็นช่วงปลายงวดของค่าไฟในงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 จากสมมุติฐานและค่าใช้จ่ายจริงจะถูกจ่ายคืนผ่านกลไกเอฟทรี

“นอกจากนี้ กกพ.ยืนยันสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ต้องยึดหลักการที่อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งต้องไม่ให้ตกเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนทุกคนอาจจะไม่ได้มีเงินมากพอในการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ดังนั้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนจะต้องไม่ไปกระทบกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน”

กกพ. กองทุนไฟฟ้าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มุ่งมั่นดูแลกิจการพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมต่อไป