ม.รังสิต ประกาศทิศทาง 5 ปี ชูนวัตกรรม-เรียนรู้ใหม่ ‘ดีมาก-หลากหลาย-24 ชั่วโมง’

มหาวิทยาลัยรังสิต ปักหมุดยุทธศาสตร์ 5 ปี มุ่งผลิตบัณฑิตคุณสมบัติตรงตามต้องการพลเมืองโลก เปิดพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ครอบคลุมทุกหลักสูตร หลากหลายวิชาชีพ ก้าวสู่ Hub การศึกษาอนาคต

วันที่ 21 เมษายน 2566 ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต นำคณะผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา, รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย, ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  แถลงข่าวมหาวิทยาลัยรังสิต 2570 ณ โรงแรมวี กรุงเทพฯ

ปรับกระบวนการเรียนรู้ตามบริบทโลกยุคใหม่

เริ่มจาก ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ กล่าวถึงทิศทางมหาวิทยาลัยที่จะเดินไปข้างหน้าจากนี้ 5 ปี ด้วยปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนก็คือ ความต้องการในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้ต้องปรับทั้งกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ โดยจะต้องตอบคำถามนักศึกษาได้ว่าเขาเข้ามาเรียนแล้วได้อะไรออกไป

ทั้งเรื่องของความคาดหวังสมรรถนะใหม่ด้านอาชีพ ความต้องการกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation ความต้องการหลักสูตรและการเรียนรู้ที่เพิ่มความหลากหลายในวิชาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้น โดยมีกว่า 30 คณะ จำนวนกว่า 134 สาขาวิชา สามารถคอลแลบส์ได้ เช่น นิเทศเรียนร่วมกับไอที เป็นกระบวนการเรียนรู้ไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยน ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความหลากหลาย ได้เข้าใจบทบาทของตัวเอง จะเป็นอะไรก็ได้ในอนาคต และเตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานอย่างมืออาชีพ (Practical University)

ผศ.ดร.นฤพนธ์ยังได้กล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่นี่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สะท้อนถึงชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และมีโอกาสที่จะเป็น Hub ใหม่ของการศึกษาในอนาคต

ย้ำปลอดภัย 24 ชั่วโมงในรั้วมหา’ลัย 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล เผยว่า มหาวิทยาลัยได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ 24 ชั่วโมง (RSU Dream Space) จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีการจัดตั้งสำนักงานตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อดูแลป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมในพื้นที่โดยรอบสถานศึกษา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกัน 

“เจ้าหน้าที่ตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิตจะได้รับการฝึกอบรม ฝึกฝนมาโดยเฉพาะ เพื่อปฏิบัติงานด้านการดูแลความปลอดภัย ทั้งยังมีเรื่องของระบบการเฝ้าระวัง ระบบการตรวจตราความเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยกำกับดูแล เฝ้าระวัง สามารถแจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

ชูนวัตกรรมแห่งความเป็นเลิศ 

ด้านผู้บริหารฝ่ายวิชาการ ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง ให้ข้อมูลว่า ความเข้มแข็งทางวิชาการและการมีหลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลาย ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม แต่ละหลักสูตรมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์ของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์, ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์, เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา, ผิวหนังเทียมที่ทำจากเจลาดินด้วยเทคนิดการพิมพ์ซีวภาพสามมิติสำหรับการรักษาแผล เป็นต้น 

“มหาวิทยาลัยรังสิตมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเทรนด์การศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการได้ เช่น เรียนหมอแต่อยากเรียนดนตรีควบคู่กันไป หรือเรียนวิศวะแต่อยากทำสื่อเป็นก็สามารถเลือกเรียนนิเทศศาสตร์เป็นวิชาโท เป็นการผสมผสานหลายวิชาแบบองค์รวม ก้าวข้ามข้อจำกัดทางการศึกษา เป็นการเติมเต็มการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง”

เศรษฐกิจเกื้อกูล สังคมเกื้อกูล

ไม่เพียงแต่เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำเท่านั้น ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร เล่าถึงการสร้างเศรษฐกิจเกื้อกูลกับสังคมแห่งการแบ่งปัน ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี 

“มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาหลักหก เพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมทุนที่ยั่งยืน เกิดเป็นแหล่งทุนระยะยาวสำหรับการดำเนินงานสร้างสุขภาวะของประชาชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบุคคล ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ รายได้ สิ่งแวดล้อม และสังคมของจังหวัดปทุมธานี สู่พื้นที่สุขภาวะที่ดีและยั่งยืน”

เส้นทางสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา

ปิดท้ายด้วยบุคคลสำคัญ ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ ให้แนวทางเพื่อให้รับทราบถึงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยรังสิตจากวันนี้ไปจนถึงปี 2570 บนเส้นทางสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษาว่า นอกจากแนวทางที่ทั้ง 4 ท่านได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นที่สุดของการเรียนรู้ และเป็นสุดยอดของการวิจัย ที่ไม่ใช่เพียงนำไปขึ้นหิ้งหรือตีพิมพ์อย่างเดียว แต่สามารถนำไปช่วยเหลือชุมชน มีประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ ได้แก่ นวัตกรรมอาหารเสริมสมุนไพร เคลียร์-บีลอง พลัส

“จากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต คณะเภสัชศาสตร์ กับบริษัท นารีฟาร์มากรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นสูตร โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการผลิตให้ได้มาตรฐาน คณะเภสัชศาสตร์ทำงานวิจัยจนได้ทราบถึงประสิทธิผล คุณลักษณะของอาหารเสริม และพบคุณสมบัติด้านการรักษา-ต่อต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ ยับยั้งต่อต้านเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (Quartile Score, Q1)”

ซีอีโอหรือแม่ทัพใหญ่ ม.รังสิต ยังได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ การมอบทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิตที่หลากหลายให้ผู้เรียน โดยให้ความสำคัญกับความต้องการการเรียนรู้ของนักศึกษาทุกด้านกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมกับประกาศทิศทางและการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย 5 ปีจากนี้ที่จะมีความพร้อมในทุกด้าน ประกอบไปด้วย สร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิต, สร้างความเป็นเลิศทางวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม, สร้างความเป็นเลิศด้านการบริการวิชาการและการฝึกอบรม, ชี้นำการรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือการบริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศและองค์กรแห่งความสุข  

ซึ่งทุกหน่วยงานภายในองค์กรพร้อมมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้งคุณภาพการศึกษาและความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ ‘มหาวิทยาลัยรังสิต’ ก้าวไปสู่ที่หนึ่งในใจนักศึกษา ตามแนวทาง ‘ดีมาก-หลากหลาย-24 ชั่วโมง’