เลือกซื้อ เนื้อหมู-ไก่ ให้ปลอดภัย

ฤดูร้อน มีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ ซึ่งส่งผลให้อาหารบูดเสียง่าย รวมถึงเนื้อสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อ จัดเก็บ และการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย ดังนี้

วิธีการเลือกซื้ออาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ อาทิ หมู ไก่ ควรคำนึงถึงความสด สะอาด และปลอดภัย ผู้บริโภคควรใส่ใจในการเลือกซื้อ โดยเลือกจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญต้องปรุงสุก เพราะจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ดี อย่างโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย

“เนื้อหมู” ให้สังเกตลักษณะภายนอก เนื้อหมูมีสีแดงธรรมชาติ ไม่เป็นสีแดงเข้ม หรือ เขียวคล้ำ เมื่อกดเนื้อไม่กระด้าง ไม่มีเม็ดสาคู ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นไข่พยาธิ นอกจากนี้แนะเลือกร้านจำหน่ายที่มีความสะอาด มีมาตรการป้องกันความปลอดภัย หรือสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” จากกรมปศุสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการบริโภค มีการตรวจสอบสารปนเปื้อน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ตั้งแต่ฟาร์ม โรงชำแหละ จนถึงสถานที่จำหน่าย 

ส่วนเนื้อหมูที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรสังเกตฉลากรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร จากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงวันผลิตและวันหมดอายุ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ 

นอกจากนี้อุณหภูมิตู้เย็นที่เก็บรักษาต้องได้ตามมาตฐานที่ 0-4 องศาเซลเซียส และไม่ควรเกิน 8 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ก่อนรับประทาน ต้องปรุงสุกด้วยความร้อนที่อุณภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส

สำหรับ “เนื้อไก่” หากซื้อเป็นตัว ให้สังเกตจากลักษณะภายนอก มีความสดใหม่ สีขาวอมชมพู ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังเป็นมัน ไม่มีรอยช้ำเลือดหรือจ้ำเลือด โดยเฉพาะบริเวณของปีกหรือใต้ปีก ไม่มีลักษณะของเหลวเมือกๆ และไม่มีกลิ่นเหม็น 

ทั้งนี้ให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ หากเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ให้ดูวันผลิตและวันหมดอายุ และสังเกตตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานว่าผ่านเกณฑ์อาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ 

ก่อนรับการประทานต้องปรุงเนื้อไก่ให้สุก ด้วยอุณหภูมิที่ 100 องศาเซลเซียส 1 นาที หรือ 60 องศาเซลเซียส 4-5 นาที เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค 

สำหรับเนื้อไก่ที่บริโภคไม่หมด ให้เก็บไว้ในช่องแช่แข็งเพื่อหยุดการเจริญของแบคทีเรีย โดยการเก็บรักษาที่ถูกต้อง ควรแบ่งประเภทของเนื้อสัตว์ นำใส่ภาชนะที่สะอาด มีฝามิดชิด แยกจากผักเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามจากเนื้อสัตว์สู่ผัก และให้มีช่องว่างในการแช่ เพื่อให้ความเย็นกระจายทั่วถึง ช่วยยืดอายุของการเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น 

แนะนำควรแบ่งเก็บเป็นส่วนๆ ให้พอดีกับการรับประทานในแต่ละครั้ง เพื่อเลี่ยงการอุ่นอาหารซ้ำไปมา เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญควรจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส

รศ.ดร.นายสัตวแพทย์กัมพล แก้วเกษ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล