ทำไมราคาคริปโตขึ้นลงตาม Bitcoin 

เมื่อมีกระแส Bitcoin Halving ก็ทำให้ตลาดคริปโตทั้งหมดคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2024 ชักนำคนหน้าใหม่และหน้าเก่า รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ทยอยเปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกันอย่างคึกคัก 

ดังเช่นกรณีในประเทศไทยที่ยักษ์ใหญ่พลังงาน Gulf จับมือกับยักษ์ใหญ่คริปโตโลก Binance เปิดตัว BinanceTH by Gulf Binance ขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศก็ไม่น้อยหน้า มีกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของโลกกว่า 11 กองทุนเปิด Spot Bitcoin ETF ให้นักลงทุนโลกเก่าเข้าถึงการลงทุนในบิตคอยน์ ยังไม่นับว่ามี Spot Ethereum ETF รอการพิจารณาอนุมัติ จากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะรู้ผลเดือน พ.ค. นี้ 

หลายคนเป็นหน้าใหม่ มือใหม่ คงจะเริ่มสังเกตแล้วว่า เวลาราคา Bitcoin ขึ้นมาต่อเนื่อง คริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ ก็มักจะขึ้นตาม เมื่อราคาบิตคอยน์ตกลงแม้เพียงนิดเดียว ก็ทำให้ราคาคริปโตสกุลอื่น ๆ ร่วงกันระนาว 

ทำไมราคาคริปโต ถึงสัมพันธ์กับ Bitcoin ขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเหรียญคนละสกุลคนละสินทรัพย์กัน

สื่อกลางการแลกเปลี่ยน

สาเหตุที่ Bitcoin (BTC) แปรผันกับคริปโตอื่นนั้น ก็เพราะ BTC เป็นสื่อกลางใช้แลกเปลี่ยนกับคริปโตเคอร์เรนซี สกุลอื่นมาก่อน เพราะ BTC สามารถพิสูจน์คุณสมบัติการเป็นเงินที่ดี คือ ไม่เสื่อมสภาพ ใช้แทนกันได้ และหาได้ยากหรือมีจำนวนจำกัดจากอุปทานสูงสุด 21ล้าน BTC จะยิ่งยากไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านการลดจำนวนทุก 4 ปี หรือ Bitcoin Halving ครั้งแรกในปี 2012 ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดและเริ่มมี “การลอกเลียน” และ “ปรับแต่ง” คุณสมบัติของ Bitcoin ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ 

สกุลเงินสำหรับอินเทอร์เน็ต หรือสื่อกลางสำหรับโลกดิจิทัล ไม่ได้เพิ่งจะมามี Bitcoin เป็นโปรเจ็กต์แรกในโลก ก่อนหน้านี้มีการพยายามพัฒนา E-Gold และ E-Cash เพื่อใช้ชำระเงินบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่เห็นจะไม่สำเร็จเนื่องจากปัญหาสำคัญคือระบบเหล่านั้น “มีเจ้าของ” มีคนควบคุม และคนใช้ต้อง “เชื่อใจ” คนคุมระบบ

แต่ Bitcoin ที่รวมเอาเทคโนโลยีจำนวนมากมาประกอบกันเป็นเครือข่ายการชำระเงินแบบบุคคลสู่บุคคล (A Peer-to-Peer Electronic Cash System) ที่ “ไม่เชื่อใจใคร” เป็นใครก็ได้ที่เข้าร่วมกันเป็นโหนด (Blockchain Node) เป็นเครื่องขุดเป็นคนพิสูจน์ตัวเลข และสมการว่า BTC ไหนจริง และธุรกรรมไหนเกิดจริง และบันทึกธุรกรรมเหล่านั้นให้กระจายไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มารวมตัวกันเป็นเครือข่าย เมื่อไม่รู้ว่าใครเป็นใครจึงไม่สามารถ “รวมหัว” กันคุมระบบได้ (51% Attack) เป็นระบบกระจายอำนาจและไร้ศูนย์กลางโดยสมบูรณ์

BTC ในช่วงปี 2010-2014 จึงต้องการใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งของในโลกจริงอย่างพิซซ่า งานภาพสวยๆ หรือแม้กระทั่งสิ่งผิดกฎหมายอย่างยาเสพติด 

แน่นอนว่า เมื่อแนวคิดเช่น Bitcoin เกิดขึ้นได้ หมายความว่าใคร ๆ ก็สร้างเงินดิจิทัลมาได้ จึงเกิดคริปโตสกุลต่างๆ อีกมากมายตามมาในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทั้งหลอกลวงบ้าง ล้มเหลวไปเองบ้าง แต่กลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกับ Bitcoin ก็ยังเชื่อว่า Bitcoin มีความแข็งแกร่งไร้ศูนย์กลางและเหมาะแก่การใช้แลกเปลี่ยนในโลกอินเทอร์เน็ต 

เครือข่ายใหม่ ๆ ที่มีเหรียญ หรือ คริปโต (Alt Coin) ที่กำเนิดขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังเชื่อว่า BTC ยังคงเป็นแกนหลักในเรื่องการไร้ศูนย์กลาง และเพียงต้องการใช้คุณสมบัติบางประการเพื่อช่วยในการทำธุรกรรม และการพิสูจน์ธุรกรรม เพื่อให้เหรียญมีความเร็วขึ้น อย่างเช่นโปรจ็กต์ SRP หรือแม้แต่การบันทึกสัญญาอัจฉริยะลงบนบล็อกเชนที่กระจายอำนาจสูง เพื่อให้เครือข่ายเป็นคอมพิวเตอร์ของโลก อย่าง Ethereum (เหรียญคริปโตอันดับสองของตลาด) ก็ล้วนเกิดจากวัตถุประสงค์ที่ต่างจาก BTC 

และต้องไม่ลืมว่าในช่วงแรกของตลาดคริปโต การซื้อหา Bitcoin ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ หากไม่ลงทุนขุดหามาเองก็ต้องมีวิธีการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อน โปรเจ็กต์คริปโตอื่นๆ ก็เช่นกัน การซื้อขายต้องซื้อขายกับเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโดยตรง ทำให้เงินเฟียต (Fiat) หรือค่าเงินกระดาษในปัจจุบันเข้าสู่โลกคริปโตได้ยาก

และด้วย BTC เกิดมาก่อนใคร และเริ่มมีมูลค่าให้เทียบเคียงจึงมีการใช้ BTC เป็นสื่อกลางซื้อขายคริปโตอื่นๆ โดยคู่เทรดมักจะมี BTC/ETH, BTC/XRP, BTC/ADA เป็นต้น

ดังนั้น ในช่วง Halving ครั้งแรกๆ เมื่อผู้ถือครอง BTC มีกำไรจากการที่อุปทานลดลง ก็มีความต้องการแบ่งสัดส่วนการลงทุน ก็จะซื้อคริปโตอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนโปรเจ็กต์ที่ต้องการเปลี่ยนระบบการเงิน และเทคโนโลยีแบบมีศูนย์กลางต่างๆ นี้ โดยใช้ BTC เป็นค่ากลางทำให้มูลค่าของคริปโต และ BTC แปรผันตามกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต้นกำเนิด Stable Coin 

ดังที่กล่าวไปว่าการที่เงินธรรมดาในธนาคารจะเข้าสู่โลกคริปโตทำได้ยากมาก ช่องทางการซื้อหา Bitcoin ยังยาก เหรียญอื่นๆ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ และด้วยตลาดขนาดเล็กยิ่งทำให้ราคาผันผวนมากกว่า 10% ในหนึ่งชั่วโมง จึงถูกครอบงำโดย BTC ซึ่งมีผู้ถือครองมากกว่าได้ง่าย 

จนกระทั่ง ในช่วงปี 2014 ก็มีการพยายามหาวิธีแก้ปัญหาด้วยสิ่งที่เรียกว่า Stable Coin เนื่องจากคริปโตมีความผันผวนสูง Stable Coin ที่ตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ในโลกจริงจะเหมาะกับการแลกเปลี่ยนมากกว่าใช้ Bitcoin โดยตรง จึงมีความคิดว่าน่าจะมีเหรียญคริปโตที่มีค่าเท่าเงินจริง

Stable Coin แบ่งกว้างๆ ได้ 4 แบบ 1. Fiat-Backed Stablecoins อ้างอิงมูลค่าตามเงินเฟียต 2. Cryptocurrency-Backed Stablecoins 3. Algorithmic Stablecoins และ 4. Commodity-Backed Stablecoins

 เหรียญ Stablecoins ยอดนิยม ชื่อ USDT เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยการตรึงมูลค่ากับเงินเฟียตดอลล่าสหรัฐฯ โดยตรง และเอาเงินสำรองไปเก็บไว้ในคลังแล้วก็สร้างเหรียญออกมา เรียกได้ว่าตอนนี้กลายเป็นเหรียญหลักที่ใช้แลกเปลี่ยนในตลาดเลย เฉพาะ USDT มีมูลค่ารวมราวหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีสกุลหลักประเภทเดียวกัน เช่น USDC ราว 3.2 หมื่นล้านเหรียญ 

นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงใกล้จะ Halving ครั้งที่ 2 ในปี 2016 เหมือนกับในปีนี้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มเปิดตัวโปรดักส์ในช่วงก่อน Halving อย่าง BinanceTH by Gulf Binance นี่เอง

ยุคนี้ Ethereum ได้ทำให้เกิดโทเคนดิจิทัลอีกนับพันสกุล เนื่องจากกลไกสมาร์ทคอนแทร็ค ยิ่งทำให้ Stablecoins มีความสำคัญสำหรับแลกเปลี่ยน 

ช่วงปี 2016-2017 การเกิดขึ้นของ Stable Coin ยังนำมาซึ่งยุครุ่งเรืองของ “กระดานเทรด” คริปโต ที่ทำให้คนทั่วไปใช้สกุลเงินในโลกจริงซื้อขาย BTC และคริปโตอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน แพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Binance.com ก็เกิดในช่วงเวลานี้ เปิดช่องทางให้ผู้คนเข้าถึงคริปโตเคอร์เรนซีด้วยเงินธรรมดาในกระเป๋า ไม่ต้องถือ BTC อีกต่อไป

แต่แม้ Bitcoin จะลดอำนาจครอบงำ คริปโตอื่นๆ แต่กระแส Bitcoin Halving ก็ยังส่งผลต่อมูลค่าของคริปโตอื่นอยู่มาก สะท้อนว่าในอุตสาหกรรมยังเชื่อมั่นที่จะเก็บมูลค่าไว้ใน Bitcoin อยู่ 

อำนาจเหนือตลาดของ Bitcoin  

อำนาจเหนือตลาดของ BTC ลดลงมาเรื่อยๆ ตามดัชนี BTC.d ที่เริ่มเก็บข้อมูล และใช้กันในช่วงปี 2014 คือช่วงที่เริ่มมี Alt Coin เกิดขึ้น ดัชนี้นี้สามารถบอกได้ว่าในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดมีสัดส่วนของ BTC ครอบงำอยู่เท่าไหร่ และยังช่วยบอกได้ด้วยว่า ในช่วงที่สัดส่วน BTC ตกลงในระยะสั้น เงินจาก BTC จะไหลไปหาคริปโตอื่นๆ หรือ Alt Coin Season ก็เพราะว่าคริปโตอื่นๆ และ BTC มีความสัมพันธ์กันอยู่ และคนในชุมชนคริปโตยังเชื่อว่าคนที่ครอง BTC จะไม่แปลงคริปโตกลับไปเป็นเงินเฟียตโดยง่ายทำให้เงินยังคงอยู่ในตลาดคริปโต

แต่จากสถิติช่วงปี 2014 BTC ยังครอบงำตลาดมากกว่า 95% ขึ้นไป และเริ่มลดอัตราลงเรื่อย ๆ ในรอบปี 2015-2016 โดย BTC ครอบงำตลาดเพียง 60-70% ขณะที่ในปัจจุบัน BTC ครองส่วนแบ่งตลาดแถว ๆ 53% เท่านั้น 

แนวโน้มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาของ Stablecoins และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงคริปโตอื่นๆ หรือเหรียญทางเลือกอื่นๆ ตามที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญประจำบล็อกเชนใหม่ๆ เหรียญมีม หรือเหรียญสำหรับเล่นเกม ล้วนส่งผลต่อการแย่งชิงส่วนแบ่งจาก BTC 

จึงน่าจับตามองว่า การที่นักลงทุนรายใหญ่ และบริษัทพลังงานอย่าง GULF สถาบันการเงิน และกองทุนเฮดฟันด์ใหญ่ๆ ของโลกที่กำลังเข้าสู่โลกคริปโตเคอร์เรนซีในวัฎจักร Bitcoin Halving ครั้งนี้ จะทำให้ “อำนาจเหนือตลาด” ของ BTC เปลี่ยนไปหรือไม่ 

และหากเป็นไปตามแนวโน้ม เชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็น Bitcoin และ Alt Coin แยกทางกันเดินได้เสียที