‘ธนาคารโลก’ จัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจปี 61 ไทยอยู่อันดับ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก

นายมารา วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า รายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลกในปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประประกอบธุรกิจ อยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก (ท็อป 30) โดยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนรวมทุกด้าน 78.45 คะแนน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลดลง เนื่องจากการนำอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจแบบอัตราคงที่มาใช้ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับลดขั้นตอนการดำเนินการขอเชื่อมไฟฟ้า และการเพิ่มความโปร่งใสในการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมไฟฟ้า
ด้านการชำระภาษี มีการปรับปรุงระบบการคำนวณ และยื่นแบบภาษีรายได้นิติบุคคลทางระบบออนไลน์ และด้านการค้าระหว่างประเทศ มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-แมทช์ชิ่ง ซิสเต็ม) มาใช้ในการควบคุมตู้สินค้า ซึ่งส่งผลในการลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าข้ามแดน

“ในปีนี้ประเทศไทยได้ทำการปฏิรูปด้านกฎระเบียบสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2546 โดยการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จทั้ง 4 ด้านข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอกชน ช่วยให้คนไทยมีงานที่ดีขึ้นและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ธนาคารโลกจะยังให้การสนับสนุนในการนำแนวปฏิบัติที่ดีมากรับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศไทยยังคงสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก” นายมารากล่าว

น.ส.จอร์เจีย วาเลน รักษาการผู้จัดการธนาคารโลก เปิดเผยว่า การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นในการวัดขีดความสามารถของประเทศ ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแนวทางหรือปฏิรูปส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะเห็นว่าประเทศไทยมีการปรับแพลตฟอร์มการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ การฟ้องคดีออนไลน์ เป็นต้น ตามแนวทางด้านดิจิทัลและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ได้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ทั้งนี้ไทยมีผลคะแนนรายด้านดีขึ้นถึง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยการขอใช้ไฟฟ้าเป็นด้านที่พัฒนาได้โดดเด่นที่สุด จนติดอันดับที่ 6 ของโลก สะท้อนความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปบริการภาครัฐ และการผลักดันของรัฐบาลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ และการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโนบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก

นายปกรณ์กล่าวว่า เมื่อคำนวณเทียบกับประเทศที่มีผลการดำเนินดีที่สุด จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ในด้านการขอใช้ไฟฟ้ามีคะแนนสูงสุดที่ 98.57 คะแนน รองลงมาคือ การขอเริ่มต้นธุรกิจ 92.72 คะแนน การค้าระหว่างประเทศ 84.65 คะแนน การชำระภาษี 77.72 คะแนน การแก้ปัญหาล้มละลาย 76.64 คะแนน การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 75 คะแนน การขออนุญาตก่อสร้าง 71.86 คะแนน การได้รับสินเชื่อ 70 คะแนน การจดทะเบียนทรัพย์สิน 69.47 คะแนน และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา 67.91 คะแนน อย่างไรก็ตามการประเมินในครั้งนี้ ธนาคารโลกได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจใหม่ จากเดิมที่ใช้ระยะห่างจากเป้าหมายที่กำหนด (Distance to Frontier) มาเป็นการวัดแบบ Ease of Doing Business Score เพื่อให้การคำนวณสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด โดยวิธีนี้ประเทศที่ทำได้ดีที่สุดในแต่ละตัวชี้วัด จะได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ประเทศที่ทำได้ไม่ดีที่สุดในตัวชี้วัดนั้น จะได้คะแนน 0 คะแนน ส่วนประเทศอื่นจะได้คะแนนตามผลงานที่ทำได้เมื่อเทียบเบนช์มาร์กดังกล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์