มาเลเซียแอร์ไลน์ส รอใบสั่ง “รีแบรนด์” รอบใหม่ 

AFP PHOTO

อุตสาหกรรมการบิน” นับวันยิ่งแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะสายการบินในเอเชียที่ต้องเผชิญชะตากรรมหลายด้าน รวมถึงผลกระทบจากต้นทุน “เชื้อเพลิง” จนทำให้หลายรายตกที่นั่งลำบาก

“มาเลเซียแอร์ไลน์ส” สายการบินแห่งชาติที่เผชิญปัญหาหนี้สินสะสมมานาน และความเชื่อมั่นผู้โดยสารก็อยู่ระดับต่ำ จากโศกนาฏกรรม MH370 และ MH17 ในปี 2014 ทำให้ชะตากรรมของสายการบินรายนี้ลุ่ม ๆ ดอน ๆ

สายการบินอายุเก่าแก่ถึง 71 ปีแห่งนี้กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังจากที่ “ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาว่าจะปิดสายการบินแห่งชาติหรือไม่ หลังสูญเงินมหาศาลกับการพยุงกิจการมานาน มหาเธร์กล่าวความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ การปิดกิจการ, ขายบริษัททิ้ง และอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรีไฟแนนซ์อีกครั้ง เพราะธุรกิจของบริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่า ภายในเดือน มี.ค.น่าจะมีความคืบหน้า สำหรับการตัดสินใจของรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์

“บลูมเบิร์ก” รายงานว่า การพิจารณาของรัฐบาลครั้งนี้น่าสนใจ เพราะสายการบินรายนี้เคยผ่านการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มาแล้ว หลังจากขาดทุนในปี 2014 จากเหตุการณ์เครื่องบินไฟลต์ MH370 ที่หายไปจากจอเรดาร์ควบคุมการบิน และไฟลต์บินเที่ยว MH17 ก็โดนยิงตกในเขตสู้รบทางตะวันออกของยูเครน

“คริสตอฟ มึลเลอร์” อดีตผู้บริหารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เคยกล่าวไว้ว่า ที่จริงสถานการณ์ของบริษัทมีปัญหาทางการเงินและเกือบจะล้มละลายมาตั้งแต่ก่อนปี 2014 โดยผลประกอบการขาดทุนทุกปีตั้งแต่ปี 2011 กระทั่งในปี 2014 มาเลเซียแอร์ไลน์สประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงมากถึง 1,300 ล้านริงกิต

กระทั่งต้องให้ “กองทุนความมั่งคั่งคาห์ซานาห์” ของรัฐบาลมาเลเซีย เข้ามาถือหุ้นและได้ทุ่มเงินไปแล้วกว่า 6,000 ล้านริงกิต เพื่อพยุงกิจการตามแผนฟื้นฟูระยะ 5 ปี (ปี 2014-2018) โดยได้ปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ตั้งแต่การนำมาเลเซียแอร์ไลน์สออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งมาเลเซีย, ปรับลดพนักงาน 6,000 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 20,000 คน, ขายเครื่องบินแอร์บัส A380 ทั้งหมด รวมถึงยุติรูตบินระหว่างประเทศที่ไม่ทำกำไร ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดต้นทุนทั้งหมดให้ได้อย่างน้อย 20% เพื่อหวังจะฟื้นรายได้กลับมาและสามารถชดเชยหนี้สินได้

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียแอร์ไลน์สยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้โดยสารได้ตามที่คาดหวัง แม้ว่าที่ผ่านมาจะออกโปรโมชั่นลดราคาตั๋วในหลาย ๆ เส้นทางบิน เช่น ตั๋วไปกลับกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง ตัดราคาเหลือเพียง 238 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สายการบินอื่นราคาเฉลี่ยสูงกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยผลประกอบการปี 2018 ที่ผ่านมายังขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 6,300 ล้านริงกิต จากปี 2014 ขาดทุน 1,300 ล้านริงกิต สะท้อนว่าแผนปรับโครงสร้างของบริษัทชุดใหญ่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

ด้านนายโมห์ชิน เอซิซ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินของ “เมย์แบงก์” กลุ่มธุรกิจการเงินรายใหญ่ของมาเลเซียมองว่า ปัจจุบันการแข่งขันธุรกิจการบินในมาเลเซียรุนแรงมาก มีสายการบินมาตั้งฐานการบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์จำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะ “แอร์เอเชีย” โลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลานี้ นอกจากนี้ยังมีสิงคโปร์แอร์ไลน์ส และกัลฟ์แอร์สของบาห์เรน ที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมี่ยมในตลาดมาเลเซีย และในภูมิภาคเอเชียด้วย

นอกจากนี้ มาเลเซียยังประสบปัญหาจากที่เงินริงกิตอ่อนค่าต่อเนื่อง และต้นทุนเชื้อเพลิงก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ของจำนวนหนี้สินของมาเลเซียแอร์ไลน์ส มาจากการที่ต้องแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ยิ่งอาจทำให้โอกาสที่รัฐบาลมาเลเซียจะอัดฉีดงบฯเพื่อฟื้นชีพให้กับมาเลเซียแอร์ไลน์สริบหรี่มากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังรอสายการบินยื่นแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง