“ฮ่องกง” มั่นใจศักยภาพไทย-มีความหลากหลายเหมาะเป็น “ตลาดทดสอบ” ก่อนรุกอาเซียน

“ฮ่องกง” เป็นเขตปกครองพิเศษหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีมาโดยตลอด โดยมีการจัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจและการค้า” (HKETO) ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการลงนาม MOU ทั้งสิ้น 4 ฉบับ ระหว่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทยกับ นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อมาตรการทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องเป้าหมายให้ “2562 ปีแห่งการลงทุน”

ในการนี้ องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ได้เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ประสานงานกับ HKETO และเอกชนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างสองภูมิภาค โดยฮ่องกงได้ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ส่วนฮ่องกงเองแม้จะไม่ได้เป็นประเทศ มีประชากรเพียงประมาณ 7 ล้านคน แต่ฮ่องกงเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่าง “กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” หรือ “Greater Bay Area (GBA)” สำหรับไทยด้วย ทั้งนี้ HKTDC ยังให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งของไทยและฮ่องกงได้

“ซันนี่ เชาว์” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและเอเชียใต้ HKTDC ระบุว่า HKTDC ได้ตั้งสำนักงานในไทยมากว่า 13 ปี สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปสร้างเครือข่ายในฮ่องกงมากกว่า 8,000 รายต่อปี ขณะเดียวกันก็ช่วยนำธุรกิจฮ่องกงเข้ามาไทย โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.6%

สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ที่ระบุว่า ในปี 2561 ฮ่องกงมีการลงทุนในไทยถึง 44 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 20.3 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 ที่มี 41 โครงการ มูลค่า 7.5 ล้านบาท ซึ่งโดยมากลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเคอรี่ เอ็กซ์เพรส และบางส่วนเป็นโรงงานและเทคโนโลยี

ทั้งนี้ HKTDC ได้มีการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและฮ่องกงผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มขึ้นในไทย เริ่มจาก โครงการเอสเอ็มอี ไอดอล (SME Idol) ที่จัดเพื่อส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ในปีที่ผ่านมา HKTDC ได้นำผู้ประกอบการธุรกิจอาหารกว่า 43 รายไปนำเสนอสินค้าที่ฮ่องกง สร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท

โครงการ Thai Access to International Markets เพื่อส่งเสริมนักออกแบบไทยในการขายสินค้าจากออนไลน์ไปออฟไลน์หรือโอทูโอ เพื่อการขายสินค้าในระดับนานาชาติและร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่าง ๆ เช่น งานจัดแสดงสินค้าและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ผลิต

สุดท้ายคือ โครงการอินโนสเปซ ไทยแลนด์ (InnoSpace Thailand) ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุนกว่า 500 ล้านบาทจากทั้งภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ของไทย ร่วมกับบรรษัทไซเบอร์พอร์ต (Cyberport) ของฮ่องกงใน 6 เดือนหลังจากมีการลงนาม MOU เป็นโครงการที่ช่วยให้ธุรกิจ SMEs นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อสามารถขยายตลาดสู่นานาชาติได้ ช่วยสตาร์ทอัพในฮ่องกงมาแล้วกว่า 1,000 ราย และมี 2 รายที่กลายเป็นธุรกิจที่มีเงินทุนตั้งต้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปหรือที่เรียกว่ายูนิคอร์น (Unicorn)

โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว อินโนสเปซจะคัดเลือกผู้ประกอบการให้มากที่สุด ไซเบอร์พอร์ตจะมีเงินสนับสนุนเบื้องต้นให้บริษัทละ 400,000 บาท จากนั้นจะมีการให้ความรู้ทางด้านธุรกิจจากบริษัทของฮ่องกงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการต่าง ๆ หนึ่งในบริษัทที่เข้ามาในโครงการนี้แล้วคือ “Ava” ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคของไทย

นอกจากนี้ HKTDC ยังได้มีการดึงสตาร์ทอัพของฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย อย่างบริษัทซาโนมิคส์ (Sanomics) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเกี่ยวกับด้านมะเร็ง โดยมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกด้วย

บริษัท ฮ่องกง เอเชีย ดิสทริบิวชั่น จำกัด (HKAD) ก็เป็นหนึ่งในบริษัทของฮ่องกงที่เข้ามาขยายตลาดในไทย โดยเริ่มจากการเข้ามาร่วมในงานแสดงสินค้า “In style Hong Kong” ที่จัดโดย HKTDC ก่อนจะเข้ามาจำหน่ายสินค้าในไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้วซึ่งมีการเติบโตถึง 10 เท่า โดยในปีที่แล้วผลประกอบการอยู่ประมาณ 10 ล้านบาท และในปีนี้คาดหวงัว่าจะแตะ 30 ล้านบาท และขยายธุรกิจไปยังประเทศใกล้เคียงในอาเซียนด้วย

“ไมเคิล ลี” กรรมการผู้จัดการ HKAD ระบุว่า HKAD ทำธุรกิจนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ดีไซน์ฮ่องกง 100% อย่างเช่น กระเป๋า แก้ว ของขวัญและของเล่นเด็กภายใต้แบรนด์ DG Studio ซึ่ง HKAD เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ในร้านหนังสือที่มีอยู่ในจำนวนมากในไทย ปัจจุบันมีกว่า 200-500 ร้านที่เป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าของ HKAD อย่าง บีทูเอส เอเชียบุ๊ก ลอฟท์ และบีเทรนด์ ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย

ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นบรรทัดฐานสำหรับการตั้งราคาสินค้า เนื่องจากราคาสินค้าที่ลูกค้าไทยพึงพอใจไม่สูงหรือต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้การที่ไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่างจากประเทศอื่นที่ความหลากหลายไม่มากนัก จึงเหมาะที่จะเป็นที่ทดลองวางจำหน่ายสินค้า ก่อนที่สินค้าของฮ่องกงจะเริ่มรุกตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ขณะที่ไทยยังมีช่องทางการซื้อสินค้าที่หลากหลายทั้งคุณภาพและราคาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มคน จึงมองว่าตลาดไทยมีโอกาสการขยายธุรกิจและการนำสินค้าที่หลากหลายเข้ามาจำหน่าย

ทั้งนี้ ไทยมีการพัฒนาระบบการขายที่ดีมาก ยอดการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้สินค้าฮ่องกงจะเป็นสินค้าแบรนด์ซึ่งราคาค่อนข้างสูง แต่การนำเข้าสินค้าฮ่องกงเข้ามาขายช่วยให้ร้านค้าไทยขายสินค้าได้ดีขึ้น มีการขยายจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ HKAD ยังต้องการนำสินค้าเทคโนโลยีเข้ามาแนะนำในไทยก่อนประเทศอื่นอย่าง ตู้หยิบตุ๊กตาที่เชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นออนไลน์และตู้ล็อกเกอร์จำหน่ายสินค้าผ่านโค้ด และยังช่วยเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายเล็กของฮ่องกงเข้ามานำเสนอสินค้าในไทยภายการจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ผ่านการร่วมมือกับ HKTDC และร้านพาร์ทเนอร์ในไทย

นอกจากนี้ ไมเคิล ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาพบอุปสรรคสำคัญด้านการติดต่อประสานงานระหว่าง HKAD กับร้านค้าปลีกในไทย ซึ่ง HKAD ได้เข้ามาช่วยวางระบบการติดต่อสื่อสารให้ราบลื่นขึ้น ซึ่งก็ทำให้ปัญหาในการนำสินค้าฮ่องกงลดน้อยลง

“ซันนี่ เชาว์” ทิ้งท้ายว่า ฮ่องกงให้ความสำคัญกับเรื่องทางธุรกิจเป็นหลัก และมีความเชื่อมั่นว่าแม้ไทยจะยังมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองแต่ก็ยังมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ดังนั้น นักธุรกิจฮ่องกงจึงมั่นใจในศักยภาพของตลาดไทยและพร้อมที่จะลงทุนในไทยไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะออกมาในทิศทางใด