ทำไมคนจีนหยุดผ่อนบ้าน?

“ไม่ก่อสร้างก็ไม่ส่งเงินผ่อน มอบบ้านมาแล้วจะจ่ายเงินให้”

ประโยคข้างต้นเป็นหนึ่งในสโลแกนประท้วงที่ผู้ซื้อบ้านชาวจีนผู้เกรี้ยวโกรธใช้ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่พวกเขาไม่ได้ปล่อยให้มันจบที่แผ่นป้ายประท้วงเท่านั้น

ผู้ประท้วงนับร้อย ๆ คนหยุดผ่อนหนี้บ้านของพวกเขา นี่นับเป็นการเคลื่อนไหวที่รุนแรงอย่างมากสำหรับจีน ต้องไม่ลืมว่านี่คือประเทศที่ไม่โอนอ่อนให้กับการคัดค้านใด ๆ

คู่รักวัยหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่เจิ้งโจวเมืองซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีนแผ่นดินใหญ่บอกกับบีบีซีว่าหลังจากที่พวกเขาจ่ายเงินดาวน์บ้านไป บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ถอนตัวจากโครงการ ขณะที่การก่อสร้างหยุดชะงัก

“ฉันได้เฝ้าฝันถึงการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในบ้านหลังใหม่นับครั้งไม่ถ้วน แต่ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องน่าขันไปทั้งหมด” หญิงสาวซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อกล่าว

คนจีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

สำหรับหญิงสาวอีกหนึ่งคนที่อยู่ในวัยยี่สิบปลาย เรื่องราวก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก เธอซื้อบ้านหลังหนึ่งในเมืองเจิ้งโจวเช่นกัน เธอบอกว่าพร้อมที่จะหยุดผ่อนบ้านแล้ว “ถ้าโครงกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง ฉันถึงจะจ่ายเงินต่อ”

ลูกหนี้เหล่านี้สามารถผ่อนบ้านของพวกเขาได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น สถานการณ์นี้แตกต่างจากวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์’ ในปี 2007 ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงสูงให้กับผู้ซื้อ จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้

ตามข้อมูลจากกิตฮับ (Github) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้ซื้อบ้านชาวจีนเข้าไปโพสต์เรื่องราว พบว่าผู้ซื้อเหล่านี้เข้าซื้อบ้านในโครงการต่าง ๆ มากกว่า 320 โครงการ ทั่วประเทศ แต่ไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่ามีทั้งหมดกี่โครงการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ตัดสินใจถอนตัว ชะลอ หรือระงับการก่อสร้าง

การเคลื่อนไหวต้านการจ่ายสินเชื่อบ้านอาจมีมูลค่าสูงถึง 120,000 ล้านปอนด์ (ราว 5.1 ล้านล้านบาท) ตามการประเมินจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พี โกลบอล ขณะที่นักวิเคราะห์อื่น ๆ มองว่าตัวเลขอาจสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ

การต่อต้านครั้งนี้ส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งพุ่งความสนใจไปที่ตลาดอสังหาฯ ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากสภาพเศรษญกิจที่ชะลอตัวและภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง (cash crunch)

คนจีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

มากไปกว่านั้น นี่ยังเป็นการส่งสัญญานว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก

“การไม่ยอมจ่ายหนี้ผ่อนบ้าน ซึ่งถูกกระตุ้นโดยความเชื่อมั่นต่อวงการอสังหาฯ ที่ลดลง นับเป็นมหันตภัยต่อจุดยืนทางการเงินของอุตสาหกรรม” ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ สถาบันคลังสมองในสหราชอาณาจักร ระบุ

ทำไมต้องสนใจวิกฤตอสังหาฯ ในจีน

ภาคอสังหาฯ คิดเป็นหนึ่งในสามของผลผลิตทางเศรษฐกิจของจีน อุตสาหกรรมนี่ผสานรวมทั้งผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย การเช่าที่พัก นายหน้า/ตัวกลาง เช่นเดียวกับเหล่าผู้ผลิตสินค้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน อาทิ ตู้เยน เตาไฟฟ้า หรือเครื่องซักผ้า และยังนับรวมวัตถุดิบที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง

ทว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพีไตรมาสล่าสุดโตแค่เพียง 0.4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้อาจไม่เติบโต

สาเหตุสำคัญเป็นเพราะนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลกลาง ที่บังคับใช้การล็อกดาวน์หลายต่อหลายครั้ง และมาตรการจำกัดหลาย ๆ อย่างก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับ รายรับ การออม และการลงทุน

ด้วยขนาดของเศรษฐกิจจีน นี่หมายความว่าการหยุดชะงักในตลาดหลักเช่นนี้สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลกได้

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่าผลกระทบนี้จะลามไปยังตลาดอื่น ๆ ธนาคารย่อมไม่ปล่อยกู้ถ้าพวกเขาเชื่อว่าภาคธุรกิจกำลังดิ่งเหว

คนจีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับนโยบาย” ดิง ฉวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจีนจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าว “ขณะที่ฟองสบู่อสังหาฯ ในที่อื่น ๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นจากตลาด สำหรับจีน รัฐบาลเป็นตัวการ”

บริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน 30 แห่งผิดนับชำระหนี้ต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอเวอร์แกรนด์ซึ่งผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้วคือโศกนาฏกรรมราคาแพงที่สุด แอสแอนด์พีออกมาเตือนว่าหากยอดขายยังไม่เพิ่มสูงขึ้น จะมีอีกหลายบริษัทที่เดินตามรอยทางนี้

อุปสงค์บ้านไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากจีนเองกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ทั้งการขยายเมื่อง (urbanisation) และตัวเลขประชากรที่ชะลอลง

“ปัญหาพื้นฐานคือตอนนี้เราถึงจัดวกกลับของตลาดอสังหาฯ จีนแล้ว” จูเลียน อีวานส์-พริตซาร์ด นักเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจจีนอาวุโสจากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

อสังหาริมทรัพย์คือเป็น 70% ของความมั่นคั่งในจีน และผู้ซื้อบ้านนิยมจ่ายเงินให้กับโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ

“พรีเซล” หรือการซื้อก่อนสร้างเหล่านี้คิดเป็น 70%-80% ของยอดขายบ้านทั้งหมดในจีน นายอีวานส์-พริตซาร์ด อธิบาย เขาเสริมว่า ผู้พัฒนาโครงการเองก็ต้องการเงินเหล่านั้นเพราะพวกเขาต้องบริหารหลายโครงการในเวลาเดียวกัน

ทว่าคนจีนชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่เริ่มไม่ลงทุนในภาคอสังหาฯ แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง การว่างงาน และเงินเดือนที่ถูกลด สำหรับตอนนี้ มีความกลัวการถูกโกงเพิ่มขึ้นไปอีก

“มันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ผู้พัฒนาฯ หวังพึ่งเงินใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา แต่มันไม่มียอดขายใหม่อีกแล้ว” นายอีวานส์-พริตซาร์ด ชี้

สินเชื่อมากกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจพัวพันอยู่กับโครงการอสังหาฯ ที่สร้างไม่เสร็จ ตามข้อมูลจากกลุ่มธนาคารเอเอ็นแซด แหล่งเงินทุนหลักช่วงที่ตลาดเติบโตอย่างมากก็ร่อยหรอไปมากแล้ว

เมื่อปี 2020 รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ (three red lines) ซึ่งเข้าไปเจาะประเด็นเพดานเงินกู้ของบริษัทอสังหาฯ นั่นเป็นการตัดแหล่งเงินทุนและผลที่ตามมาคือการขาดความเชื่อมั่น จนนำไปสู่ภาวะที่ธนาคารไม่อยากปล่อยสินเชื่อ

รัฐบาลทำอะไรอยู่

สี จิ้นผิง

ที่มาของภาพ, Getty Images

หนึ่งในสิ่งที่ชัดเจนคือรัฐบาลกลางจีนผลักภาระให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นแก้ปัญหา ตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้ทั้งเสนอให้มีการปรับลดเงินฝาก ส่วนลดหย่อนภาษี เงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อบ้าน รวมไปถึงเงินทุนช่วยเหลือผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ อย่างไรก็ดีความช่วยเหลือเหล่านี้เป็นต้นที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องแบกและกินงบกองทุนอย่างแน่นอน ต้องไม่ลืมด้วยว่าปัจจุบันมีบริษัทผู้พัฒนาซื้อที่ดินน้อยลง นี่เป็นแหล่งรายได้สำคัญขอบรัฐบาลท้องถิ่นจีน

“ผมคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกลางและเหล่าผู้กำกับทั้งหลายต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ” นายดิง ฉวน กล่าว “ณ จุดนึง [รัฐบาล] จะยื่นมาเข้ามาแก้ปัญหาให้กับบางบริษัทผ่านมาตรการ ring-fence [หรือการแยกธุรกิจบางส่วนออกจากกัน] ภาคธุรกิจนี้สำคัญมากเกินไปสำหรับเศรษฐกิจ”

สำนักข่าวไฟแนนซ์เชียล ไทมส์ รายงานว่ารัฐบาลจีนเพิ่งออกสินเชื่อวงเงินรวม 148,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.2 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือผู้พัฒนาอสังหาฯ ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าลูกหนี้บ้านอาจได้ช่วงเวลาหยุดจ่ายหนี้โดยไม่ส่งผลกระทบกับข้อมูลเครดิตของพวกเขา

ทว่าออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เพิ่งออกมาเตืนอว่า การแทรกแซงตลาดอสังหาฯ ของรัฐบาลจะกระตุ้นได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่ “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว เรื่องจากรัฐบาลจีนและภาคการเงินถูกบังคับให้ต้องรักษาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ไร้ประสิทธิผล (และกำลังล้มเหลว)”

นี่ไม่ใช่แค่วิกฤตการเงิน การไม่ผ่อนชำหนี้ค่าบ้านเสี่ยงต่อการพัฒนาขึ้นไปเป็นปัญหาทางสังคม นายดิง ฉวน ชี้

และนี่จะกลายเป็นปัญหาที่นายสี จิ้นผิง ต้องเผชิญในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อเป็นวาระที่สาม

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

นักวิเคราะห์มองว่าเงินกู้ 5.2 ล้านล้านบาท น่าจะไม่เพียงพอ แคปิตอล อีโคโนสิกส์ ประเมินว่าบริษัททั้งหลายอาจต้องการเงินราว 444,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16 ล้านล้านบาท) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการที่หยุดชะงักอยู่ให้เสร็จสิ้น

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าธนาคารขนาดเล็กจะสามารถทนแบกภาวะการไม่จ่ายหนี้ครั้งนี้ได้หรือไม่

แม้การก่อสร้างจะกลับมาดำนเนินการ ผู้พัฒนาอสังหาฯ จำนวนไม่น้อยก็อาไม่รอดอยู่ดี เนื่องจากไม่มีทีท่าว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ ยอดขายบ้านของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน 100 แห่ง ตกลงถึง 39.7% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามข้อมูลจากบริษัทข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จีน (CRIC)

วิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่นี้เป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดที่เคยมีมาว่าเศรษฐกิจจีนเดินมาถึงทางแยกแล้ว

“รัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อหาแหล่งสนับสนุนการเติบโตใหม่ ๆ ทว่ามันเป็นเรื่องยากเนื่องจากเศราฐกิจประเทศพึ่งพาภาคอสังหาฯ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งออก มาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ” นายอีวานส์-พริตซาร์ด กล่าว

“ยุคสมัยแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว และเห็นได้ชัดเจนที่สุดอย่างที่เกิดกับภาคอสังหาฯ ตอนนี้”

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว