รัสเซีย ยูเครน : ปธน.ปูติน ย้ำ การโต้กลับของยูเครนไม่ได้ทำให้รัสเซียต้องเปลี่ยนแผน

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุเป็นครั้งแรกเรื่องการบุกตอบโต้ของยูเครนว่าไม่ได้ทำให้รัสเซียต้องเปลี่ยนแผน

ก่อนหน้านี้ การบุกโจมตีตอบโต้ของยูเครนทำให้พวกเขายึดพื้นที่คืนมาได้กว่า 8,000 ตร.กม. ในช่วงเวลาแค่ 6 วันในภูมิภาคคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน

อย่างไรก็ดี ผู้นำรัสเซียบอกว่าไม่ได้เร่งรีบ และปฏิบัติการในภูมิภาคดอนบาสยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นายปูตินยังบอกอีกว่าถึงตอนนี้รัสเซียยังไม่ได้ใช้กำลังทหารอย่างเต็มที่เท่าที่มีเลย

“ปฏิบัติการรุกรานในดอนบาสไม่ได้หยุดยั้งลง มันกำลังดำเนินต่อไป ไม่ได้รวดเร็วแต่ค่อย ๆ ยึดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ” นายปูตินกล่าวหลังการประชุมสุดยอดที่อุซเบกิสถาน

บางส่วนของภูมิภาคดอนบาสถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัสเซียยึดครองไว้แล้วตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่ภูมิภาคคาร์คิฟซึ่งเป็นที่ที่ยูเครนเริ่มปฏิบัติการโต้กลับไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดอนบาส

เมื่อวันศุกร์ (16 ก.ย.) นายปูตินเตือนว่าจะมีการตอบโต้ที่ “รุนแรงมากขึ้น” หากยูเครนยังโจมตีต่อเนื่อง

“ผมขอเตือนคุณว่ากองทัพรัสเซียยังไม่ได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลังทั้งกองทัพ… มีเพียงทหารอาชีพเท่านั้นที่ต่อสู้อยู่ตอนนี้”

Vladimir Putin

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหรัฐฯ เตือนอย่าใช้อาวุธนิวเคลียร์

ต่อมาในวันเดียวกัน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกโรงเตือนรัสเซียว่าอย่าใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีเพื่อทำสงครามในยูเครน

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับซีบีเอส นิวส์ นายไบเดนกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวจะ “พลิกโฉมการเผชิญหน้ากันในสงคราม ในแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง”

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไรหากมีการใช้อาวุธดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ

ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ออก “คำเตือนพิเศษ” ให้กองกำลังนิวเคลียร์ของประเทศ หลังเริ่มปฏิบัติการบุกรุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Joe Biden

ที่มาของภาพ, Getty Images

เขาบอกกับหัวหน้าฝ่ายกลาโหมว่าเป็นเพราะ “ถ้อยแถลงที่ก้าวร้าว” ของชาวตะวันตก

อาวุธนิวเคลียร์มีมาเกือบ 80 ปีแล้ว และหลายประเทศมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีไว้ใช้เพื่อรับประกันความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติต่อไปได้

รัสเซียคาดว่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,977 นัด ตามรายงานของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists–FAS)

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่น่าเป็นไปได้ที่รัสเซียตั้งใจจะใช้อาวุธดังกล่าว

กราฟิก

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีคืออาวุธที่สามารถใช้ได้ในระยะทางที่ค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับอาวุธนิวเคลียร์ “เชิงกลยุทธ์” ที่สามารถยิงได้ในระยะทางที่ไกลกว่ามากและทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์แบบเบ็ดเสร็จ

ในการให้สัมภาษณ์กับสกอตต์ เพลลีย์ ผู้สื่อข่าวของรายการ 60 มินนิตส์ (60 Minutes) ของช่องซีบีเอส ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีไบเดนถูกถามถึงสิ่งที่เขาจะพูดกับประธานาธิบดีปูติน ถ้าเขากำลังพิจารณาใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงในยูเครน

“อย่า อย่า อย่า” เป็นคำตอบของประธานาธิบดีไบเดน

จากนั้นนายไบเดนถูกถามถึงผลที่จะตามมาต่อนายปูตินหากล้ำเส้นดังกล่าว

“คุณคิดว่าผมจะบอกคุณถ้าผมรู้ว่ามันคืออะไรหรือ แน่นอนผมจะไม่บอกคุณ แต่มันจะมีผลกระทบตามมาแน่นอน” นายไบเดนตอบ

“พวกเขาจะกลายเป็นคนนอกคอกของโลกใบนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา และขึ้นอยู่กับขอบเขตของสิ่งที่พวกเขาทำ จะเป็นตัวกำหนดว่าการตอบสนองจะเกิดขึ้นอย่างไร”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว