ซึมเศร้าหลังคลอด : ทำไมแม่จึงไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

  • เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
จริยดีและลูกสาว

ที่มาของภาพ, Instagram/Plespencer

กว่าจะคลอดลูกออกมาได้ แม่ต้องอุ้มท้องนาน 9 เดือน คลอดมาแล้วก็ต้องคอยฟูมฟักดูแลลูกน้อยอย่างทะนุถนอม เพื่อให้ลูกเติบโตตามวัยและดูแลตัวเองได้ ความใกล้ชิดความผูกพันระหว่างแม่ลูก ทำให้มีคำเปรียบเปรยที่ว่า ลูกคือแก้วตาดวงใจของแม่ แต่สำหรับ จริยดี สเปนเซอร์ หรือ เปิ้ล เธอกลับไม่รู้สึกอย่างนั้น หลังคลอดลูกคนที่ 2 เธอก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

“ที่บ้านก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อยู่ดี ๆ เราจิตตกเอง ให้นมอยู่ก็ร้องไห้ มองหน้าลูกแล้วก็ ทำไมเราต้องเหนื่อยขนาดนี้ เขาเกิดมาเพื่ออะไร จะมีคำถามที่เกิดขึ้นมาเอง ซึ่งไม่เกิดขึ้นกับลูกคนแรก” คุณแม่วัย 45 ปี เล่า

ลูกชายคนโตของเธออายุ 8 ขวบ ส่วนลูกสาวคนเล็กเพิ่งจะมีอายุครบ 3 ขวบ ไม่นานนี้

Advertisment

“4 ปีที่แล้วตอนท้องไม่ได้คิดถึงโรคซึมเศร้า รู้จักแต่เบบี้บลู” เธอบอกว่า เธอรู้แค่ว่า หลังคลอดอาจจะมีอาการเศร้าและอ่อนเพลียนาน 1-2 สัปดาห์ แต่ไม่คิดว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอจะหนักกว่านั้น และกินเวลานานหลายเดือน

อยากเขวี้ยงลูกลงพื้น

เธอเล่าว่า เธอมองลูกสาวตัวน้อยหน้าตาน่ารัก “เหมือนมีระยะห่าง คือเหมือนไม่ได้มีความรักอะไร” เธอบอกว่า เธอไม่รู้สึกผูกพันกับลูกและถึงขั้นที่ไม่อยากจะให้นมลูก ปล่อยให้พี่เลี้ยงเด็กคอยดูแลลูกเป็นส่วนใหญ่

จริยดี เล่าว่า ปกติเธอเป็นคนสนุกสนาน และมองโลกในแง่ดี เธอจึงสับสนมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง นอกจากนั้นคนรอบข้างรวมถึงสามีก็เริ่มรับรู้ถึงความผิดปกตินี้

เปิ้ลกับลูกชายและลูกสาว

Advertisment

ที่มาของภาพ, Instagram/plespencer

บางครั้งเธออุ้มลูกสาวอยู่แล้วก็รู้สึกว่า “อยากจะเขวี้ยงเขาลงพื้นอะ” เธอรู้ว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง แต่เธอไม่สามารถอธิบายได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเธอ จนถึงขนาดมีความคิดว่า “ไม่อยากอยู่แล้ว ไม่รู้จะอยู่ทำไม” เธอเล่าว่า เธอเคยคิดเช่นนี้อยู่ประมาณ 2 ครั้ง

เปิ้ล ที่เคยเป็นคนอารมณ์ดี สนุกสนาน สบาย ๆ ไม่คิดอะไรมาก กลับกลายเป็นคนอีกคนที่อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย เหนื่อยหน่ายและเศร้าใจโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เธอทะเลาะรุนแรงกับสามีหลายครั้ง จนกระทั่งสามีบอกกับเธอตรง ๆ ว่า “อยากจะได้ภรรยากลับคืนมา” เธอจึงตัดสินใจไปหาหมอ

เส้นสีเทา

เว็บไซต์พบแพทย์ ระบุว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression หรือ PPD) อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดขึ้นในช่วงปีแรกหลังจากคลอดบุตร โดยอาการที่มักพบได้ มีดังนี้

  • รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
  • วิตกกังวลมากผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
  • มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
  • รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
  • มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
  • มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
  • กังวลไปว่า ตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
  • มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดควรไปพบแพทย์หากอาการข้างต้นไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ มีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดูแลลูกน้อยและการใช้ชีวิตประจำวัน และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดหากคุณแม่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองและเด็ก โดยคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลเด็กชั่วคราว เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวแม่และเด็กได้

ที่มา : เว็บไซต์พบแพทย์ https://www.pobpad.com/

เส้นสีเทา

กินยาปรับฮอร์โมน

เปิ้ลเล่าว่า เธอได้ไปปรึกษาแพทย์ซึ่งได้สั่งยาปรับฮอร์โมนมาให้เธอกิน “เขาบอกว่า เครียด เอาไปกินนะสบาย ๆ คือหมอแต่ละคนวิธีพูดต่างกัน” แม้แพทย์ไม่ได้บอกเธอตรง ๆ ว่า เธอเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่เธอก็เชื่อว่า เธอกำลังทุกข์ทรมานจากโรคนี้อยู่

“คุณหมอเขารู้อยู่แล้วว่า เป็นซึมเศร้า เขาก็เข้าใจ เอาอย่างนี้ คนที่กำลังจะตาย หมอคงไม่อยากพูดให้หมดกำลังใจ” เธอกล่าว

เปิ้ลกับสามีและลูกสาว

ที่มาของภาพ, Instagram/plespencer

หลังจากกินยานาน 2 เดือน เธอก็เริ่มมีอาการดีขึ้น และหยุดกินยาไป เธอบอกว่า นอกจากหมอแล้ว คนที่มีส่วนสำคัญที่สุดสำหรับคนที่เผชิญกับปัญหาเดียวกับเธอคือ คนในบ้าน

“คนในบ้านต้องเข้าใจ คนในบ้านต้องสนับสนุน คนในบ้านต้องช่วย” เธอกล่าว โดยเธอมีสามีที่เข้าใจและคอยปรับตัวให้การสนับสนุนเธอ

คุณแม่ลูกสองผู้นี้ก็ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ต้องการมีครอบครัวที่มีความสุข และโชคดีที่เธอไหวตัวทันก่อนที่อาการจะหนักมากไปกว่านี้ และยอมรับว่า ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้และเข้ารับการรักษา

“เราก็ต้องการให้ครอบครัวเรามีความสุขเนาะ แต่ก่อนจะให้คนอื่นมีความสุข เราต้องมีความสุขก่อน” เธอกล่าว

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ใน 5 ของแม่ลูกอ่อนในประเทศกำลังพัฒนามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ เพราะหลายคนไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ เนื่องจากตราบาปทางสังคมที่คาดหวังว่า คนเป็นแม่จะต้องอิ่มเอมใจกับการมีลูก ในขณะที่ความเป็นจริงพวกเธอกลับมีความรู้สึกเศร้าใจ หดหู่ และบางคนเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่ฆ่าลูกน้อยของตัวเอง

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เปิ้ลเผชิญ ทำให้เธอและสามีซึ่งเป็นเจ้าของอาคารวูฟแพคที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ได้ร่วมกับมูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์มากอฟฟิน (Pranaiya and Arthur Magoffin Foundation) จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายบอกเล่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างแม่และลูก 8-23 ต.ค. นี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลก่อนและหลังคลอด

โดยเฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้คือ หนึ่งในคนที่สูญเสียภรรยาพร้อมกับลูกน้อยไป สืบเนื่องจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จึงได้ใช้ชื่อภรรยาชาวไทยและลูกมาตั้งชื่อมูลนิธิ เขาเคยระดมทุนเพื่อมูลนิธิด้วยการออกวิ่งจากตอนเหนือสุดของสกอตแลนด์ ไปจนถึงจุดล่างสุดของเกาะอังกฤษ

ผู้หญิงกับลูกทารก

ที่มาของภาพ, Samantha Claire

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเปิ้ลและลูกสาวคนเล็กค่อย ๆ ดีขึ้น แม้เธอจะยอมรับว่า ยังมีความรู้สึกไม่ผูกพันกับลูกอยู่บ้าง แต่เทียบไม่ได้เลยกับช่วงแรก ๆ

การได้ใช้เวลาอยู่กับลูกตามลำพัง ช่วยให้เธอและลูกผูกพันกันมากขึ้นไปด้วย “ความรักมันก็เพิ่มพูนด้วยกันอัตโนมัติอะค่ะ ก็รักเขามากอะค่ะ ตอนนี้ โอเคเลย โอเคมาก ๆ” เธอกล่าวและย้ำว่า ต้องใช้เวลาระยะยาวในการดูแลตัวเองและการเสริมสร้างความรักความผูกพันกับลูก

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว