ชะตากรรมคนเห็นต่างจากรัฐบาลจีน : “ฉันต้องเลือกระหว่างสามี หรือ ลูก ๆ”

  • ไมเคิล บริสโทว์
  • บีบีซี

นางเกิ้ง เหอ ต้องเผชิญกับคดีความ การถูกติดตาม และครอบครัวแตกแยก เพียงเพราะเธอแต่งงานกับชายคนหนึ่ง เรื่องราวของเธอเผยให้เห็นถึงด้านมืดของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3

นางเกิ้งเหอ ยังจำได้ว่าเธออยู่ที่ไหน ตอนที่เธอตระหนักถึงอำนาจอันมากล้นของรัฐบาลจีน

เธออยู่ในร้านทำผมในกรุงปักกิ่ง เพื่อพาลูกสาวชื่อ เกรซ ไปตัดผม ทันใดนั้น กลุ่มคนหลายสิบคนได้บุกเข้ามา และบอกให้เธอและลูกสาวไปกับพวกเขา โดยกลุ่มคนเหล่านี้ เป็น “ตำรวจลับ”

ตอนแรก เกิ้ง เหอ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และกลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร เธอถามว่าขอให้ลูกตัดผมเสร็จก่อนได้ไหม แต่พวกเขาบอกว่า “ไม่ได้” เมื่อมองออกไปข้างนอก เธอเห็นเจ้าหน้าที่อีกจำนวนมากอยู่บนถนน และมีอีกหลายนายรอพวกเขาอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์ของเธอ

Geng He at protests against the Chinese government in Washington, DC on 14 February 2012

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ฉันหันไปรอบ ๆ แล้วต้องอุทาน ว้าว เพราะชั้น 1 และชั้น 2 เต็มไปด้วยผู้คน” เธอบอกกับบีบีซี

อะพาร์ตเมนต์ของเกิ้ง เหอ ถูกตรวจค้น, เจ้าหน้าที่บอกกับเธอว่า สามีของเธอถูกจับขณะเดินทางไปเยี่ยมน้องสาวในมณฑลซานตง ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงปักกิ่ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2006 และเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบชีวิตครอบครัวของพวกเขา

สามีของเกิ้ง เหอ คือ เกา จื้อเฉิง มีอาชีพเป็นทนายความ ครั้งหนึ่ง เขาเคยภักดีต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน แต่แล้ว เขาก็เริ่มปกป้องผู้คนที่ทางการจีนไม่ต้องการให้ปกป้อง

กลุ่มบุคคลที่ เกา จื้อเฉิง ปกป้องมีมากมายรวมถึงสมาชิกขบวนการทางจิตวิญญาณฝ่าหลุนกง, กลุ่มชาวคริสต์ในจีน ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ศาสนาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มต่อต้านการยึดครองที่ดินโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

หลังถูกจับกุม เกา จือเฉิง ใช้ชีวิตในเรือนจำหลายปีสลับกับกักบริเวณในบ้าน โทษฐานปลุกปั่นเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

เวลาที่เขาถูกกักบริเวณในบ้าน ทางการได้สร้างสถานีตำรวจพิเศษขึ้นในอาคารอะพาร์ตเมนต์ของครอบครัวนายเกา เพื่อจะได้สังเกตความเคลื่อนไหวของเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“บ่อยครั้ง ฉันเปิดม่านแล้วเห็นรถตำรวจหลายคันอยู่ด้านล่าง” เกิ้ง เหอ เล่า พร้อมเสริมว่า สามีของเธอจะตะโกนกลับมาว่า “เธอทำอะไรน่ะ ไปมองพวกเขาเพื่อให้พวกเขาพอใจทำไม”

สถานการณ์ยิ่งยากลำบากมากขึ้น เพื่อทางการกดดันให้ทั้งสองต้องย้ายบ้าน และพวกเขาก็หาโรงเรียนที่จะรับ เกรซ ลูกสาวของพวกเขาเข้าเรียนได้ยาก

Geng He (L) today with her daughter Grace

ที่มาของภาพ, Geng He

สถานการณ์เหล่านี้ กดดันให้ เกิ้ง เหอ ต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่เลวร้ายว่า จะอยู่ต่อ หรือหนีออกจากจีนพร้อมลูกสาว ซึ่งในเวลานั้นอายุ 16 ปี รวมถึงลูกชาย ชื่อ ปีเตอร์ วัย 5 ขวบ แต่ตัวเลือกหลัง หมายความว่า จะต้องทิ้งสามีไว้ข้างหลัง

เกิ้ง เหอ และลูก ๆ หนีออกจากจีนในปี 2009 ด้วยความช่วยเหลือของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน โดย เกิ้ง เหอ และสามีของเธอ ตกลงกันว่าจะพยายามหนีไปด้วยกัน แต่แล้ว ด้วยสถานการณ์ที่ฉุกละหุก ทำให้พวกเขาต้องหนีไป โดยไม่ได้บอกสามีก่อน

เหตุผลที่เธอไม่ได้บอกสามี เพราะไม่ต้องการเปิดเผยเส้นทางหนี มิเช่นนั้น มิเช่นนั้น คนอื่น ๆ ที่ต้องการหนีออกจากจีนเหมือนเธอ อาจทำไม่สำเร็จก็เป็นได้ โดยวิธีการหนีที่เธอพอเล่าได้ คือ การต้องคุดคู้อยู่ในส่วนเก็บสัมภาระของรถโดยสารเป็นเวลานาน

ท้ายสุด พวกเขาลักลอบออกจากจีนได้สำเร็จ และเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อพำนักอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่สหรัฐฯ จะอนุมัติให้พวกเขาเข้ามาลี้ภัย

ชีวิตในสหรัฐฯ ช่วงแรกสำหรับพวกเขาค่อนข้างลำบาก, เกิ้ง เหอ ต้องดิ้นรนอย่างมาก และปัจจุบัน ก็ยังดิ้นรนอยู่ กับการปรับตัวใช้ภาษาอังกฤษ เธอยังเป็นห่วงลูก ๆ ของเธอด้วย

และที่สำคัญ ลูก ๆ ของเธอต้องใช้ชีวิตต่อโดยไม่มีพ่ออยู่ด้วย ทำให้ เกรซ ลูกสาว ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จากปัญหาด้านจิตใจ

แต่ผ่านมา 13 ปี ในที่สุด ลูกสาวและลูกชายยอมรับความจริง และเริ่มใช้ชีวิตสร้างเนื้อสร้างตัวในอเมริกา ตอนนี้ เกรซ อายุ 28 ปีแล้ว และเพิ่งแต่งงาน ส่วนปีเตอร์ อายุ 19 ปี ได้เข้าเรียนด้านแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

“เขามองโลกในแง่บวกมาก และมีความสุขทุกวัน เขาเรียนและทำงานเสริมไปด้วย ชีวิตค่อนข้างดี” คุณแม่ที่ภาคภูมิใจในตัวลูก กล่าว

แต่ตัวพ่อ เกา จื้อเฉิง ยังคงทุกข์ยาก แม้หลังครอบครัวหนีไปสหรัฐฯ เขาต้องเข้าออกเรือนจำ และเปิดเผยว่าถูกทรมานด้วย โดยเมื่อเขาออกจากเรือนจำในปี 2014 สุขภาพร่างกายและจิตใจของเขาย่ำแย่ ฟันของเขาเปราะบางมาก จนแทบดึงออกมาได้ด้วยมือเปล่า

Activists rally for the immediate release of Gao Zhisheng on the 5th anniversary of his arrest, in front of the Chinese Consulate in Los Angeles, California on 13 August, 2022

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังสิ้นสุดการรับโทษ, เกา จื้อเฉิง ยังถูกกักบริเวณภายในบ้านที่บ้านเกิดของเขาในมณฑลชานซี แม้ว่าจริง ๆ แล้ว เขาควรได้รับอิสระแล้วก็ตาม

นี่เป็นพฤติการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนในสหรัฐฯ เรียกว่า “การปล่อยตัวแบบไม่ปล่อย”

บางครั้ง เกิ้ง เหอ โทรศัพท์หาสามีของเธอเพื่อถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ แต่เมื่อ 5 ปีก่อน บทสนทนาของเธอกับสามี กลายเป็นครั้งสุดท้าย

“จำไม่ได้แล้วว่า เราคุยอะไรกัน เพราะมันเหมือนเป็นการโทรศัพท์หากันธรรมดา แต่ฉันถามเข้าแน่นอนว่า เป็นอย่างไรบ้าง” เธอกล่าว “อารมณ์เขาดีนะ เขาบอกว่าเขายังอยู่ดี ซึ่งก็เป็นปกติของเขาที่จะมั่นใจและมองโลกในแง่ดี”

แต่เมื่อเธอโทรศัพท์กลับไปหาเขาอีกในไม่กี่วันต่อมา ไม่มีใครรับโทรศัพท์ และเธอก็ไม่ได้ทราบข่าวจากสามีอีกเลยนับแต่นั้น ไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่

แต่เธอหวาดกลัวว่า สามีของเธออาจไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว

“ฉันมีความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในฝันร้ายว่า พรรคคอมมิวนิสต์กำลังใช้โควิดเป็นข้ออ้าง เพื่อทำให้เขาหายไปตลอดกาล”

เธอวิตกว่า ทางการจีนอาจประกาศว่า สามีของเธอเสียชีวิตจากโควิด ซึ่งเป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติ โดยที่ทางการจีนไม่ต้องรับผิดชอบ

สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงลอนดอน ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของบีบีซี ต่อสภาพความเป็นอยู่ของ เกา จื้อเฉิง

และไม่เพียงแต่ตัวทนายเกาเท่านั้นที่ทุกข์ทรมาน แต่ญาติพี่น้องและเครือญาติของเขาในจีนก็ได้รับผลกระทบด้วย

น้องสาวของ เกา จื้อเฉิง ที่อาศัยอยู่ในบ้านเกิด สถานที่ที่เขาถูกควบคุมตัว กลายเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเมื่อ 2 ปีก่อน

น้องเขยของ เกิ้ง เหอ ก็เผชิญภาวะซึมเศร้าเช่นกัน แล้วติดโรคร้าย และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพราะตำรวจยึดบัตรประชาชนของญาติ ๆ เกา จื้อเฉิง ไปหมด ต่อมา เขาเองก็ฆ่าตัวตายด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ เกิ้ง เหอ ไม่สบายใจอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไม่กี่ปีก่อน คนแปลกหน้าได้ปรากฎตัวในสวนหลังบ้านของเธอ ใกล้กับนครซานฟรานซิสโก เธอมองเห็นไม่ชัดเพราะมืดมาก แต่กลัวว่า จะเป็นคนที่เชื่อมโยงกับทางการจีน เธอจึงหยิบปืนพกที่เก็บไว้ในบ้าน และยิงขู่ไปหนึ่งนัด ทำให้คนแปลกหน้าคนนั้นหนีไป

แม้จะเผชิญเหตุดังกล่าว แต่ เกิ้ง เหอ ยังไม่หมดใจ เมื่อลูก ๆ ของเธอปรับตัวเข้ากับชีวิตในสหรัฐฯ ได้แล้ว เธอจึงหันไปให้ความสนใจกับการช่วยสามีของเธอ ที่เรื่องราวความทุกข์ทรมานของเขาเริ่มเลือนหายไปจากสังคมทั้งในจีนและต่างประเทศ

เธอทุ่มเทให้กับการตามหาสามีของเธอ และรณรงค์เพื่อไม่ให้ชื่อของเขาหายไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เกิ้อ เหอ ฉายภาพหน้าสามีของเธอ ไปยังกำแพงนอกสถานกงสุลจีนในนครลอสแองเจลิส เพื่อรำลึกครบรอบ 5 ปีการหายตัวไปของเขา และเมื่อเดือน ก.ย. เธอเปิดตัวงานประติมากรรมรูปหน้าสามีเธอ ที่ทำจากปลอกกระสุนเปล่ากว่า 7,000 ชิ้น

Geng He with a picture of her husband made of empty bullet shells

ที่มาของภาพ, Geng He

เธอได้จ้างทนายหลายคนในกรุงปักกิ่ง เพื่อพยายามว่าจะตามเบาะแสสามีเธอได้หรือไม่ แต่หน่วยงานรัฐบาลไม่ยอมบอกอะไรพวกเขาเลย

เกิ้ง เหอ เป็นหนึ่งในชาวจีนหลายสิบคนที่กระจายตัวอยู่ในอเมริกาเหนือ และพยายามพาบุคคลอันเป็นที่รักออกจากจีน

การตรวจสอบว่ามีนักเคลื่อนไหวกี่คนถูกคุมขังในจีน เป็นเรื่องที่ยาก รัฐบาลจีนเองไม่เคยยอมรับว่า มีการควบคุมตัวนักโทษทางการเมือง

เกิ้ง เหอ ยอมรับว่า เธอไม่เคยเข้าใจว่า งานของสามีอันตรายแค่ไหน จนเธอย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ ตอนนี้ เธอรู้สึกเข้าใจสามีมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาอาจต้องแยกจากกันตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

“ตอนนี้ ฉันรู้สึกเหมือนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ช่วยเขาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ มันทำให้ชีวิตของฉันมีความหมายใหม่”

การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ทรงพลัง มีแนวโน้มสูงมากที่การต่อสู้ของเกิ้ง เหอ จะล้มเหลว แต่เธอมุ่งมั่นจะเดินหน้าต่อ “ครอบครัวเล็ก ๆ ของฉัน ทรมานมากเกินไป แต่ตอนนี้ ฉันได้ครอบครัวที่ใหญ่กว่า… ฉันเจอคนจำนวนมากที่ทำงานหนัก เพื่อจีนที่ดีขึ้น”

แต่ความรู้สึกผิดที่ทิ้งสามีไว้ข้างหลัง ให้เผชิญชะตากรรมที่ไม่แน่นอน คงไม่จางหายไปจากความรู้สึกของเกิ้ง เหอ แต่ความสำเร็จของลูก ๆ และเพื่อนใหม่ของเธอ รวมถึงความเชื่อถึงอนาคตที่ดีกว่า เป็นแสงเล็ก ๆ แห่งความหวังให้ชีวิตของเธอ

………..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว