ราชวงศ์อังกฤษ : อดีตนางสนองพระโอษฐ์ควีนลาออกหลัง “เหยียด” สตรีผิวดำในงานเลี้ยงที่บักกิงแฮม

“ไม่มีที่ให้พวกเหยียดเชื้อชาติในสังคมเรา” คือถ้อยแถลงจากโฆษกของเจ้าชายวิลเลียม หลังแม่ทูนหัว (godmother) วัย 83 ปี ของพระองค์ไปแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อผู้นำองค์กรการกุศลเพื่อหญิงผิวดำในอังกฤษที่งานเลี้ยงรับรองที่พระราชวังบักกิงแฮมเมื่อบ่ายวันอังคารที่ 29 พ.ย.

ทันทีที่บทสนทนาระหว่างเลดี้ซูซาน ฮัซซี่ อดีตนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับ อึงโกซี ฟูลานี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Sistah Space ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ สำนักพระราชวังก็ออกมาให้ข่าวช่วงบ่ายวันที่ 30 พ.ย. ว่า บุคคลที่ตกเป็นข่าวได้ “ขออภัยอย่างสุดซึ้ง” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและลาออกจาก “บทบาทที่ทรงเกียรติ” แต่ไม่เปิดเผยชื่อของเธอ

Ngozi Fulani

BBC

สำนักพระราชวังแถลงด้วยว่า “สิ่งที่พูดออกมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และน่าเสียใจอย่างสุดซึ้ง”

งานเลี้ยงรับรองนี้ สมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงพระราชทานจัดขึ้น เชิญแขกร่วมงานราว 300 คน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงที่ระบาดไปทั่วโลก

Pictured with Queen Elizabeth II leaves after attending a morning church service at St Mary Magdalene Church in Sandringham, Norfolk

PA Media
เลดี้ฮัซซี่ที่มีความสนิทสนมกับควีนเอลิซาเบธมาก

ผู้ใกล้ชิดควีน

ฟูลานีในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือหญิงผิวดำที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในสหราชอาณาจักรได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานด้วย เช่นเดียวกับเลดี้ฮัซซี่ที่มีความสนิทสนมกับควีนเอลิซาเบธมาก เป็นนางสนองพระโอษฐ์มาหลายสิบปี โดยเธออยู่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถในพิธีศพของเจ้าชายฟิลิป แม้หลังการสวรรคตของควีน เธอยังมีตำแหน่งในสำนักพระราชวังต่อไป จนกระทั่งเกิดเหตุนี้ขึ้น

ฟูลานีย้อนเล่าให้รายการ Today ของ สถานีวิทยุ BBC Radio 4 เมื่อ 1 ธ.ค. ว่า บทสนทนาเมื่อ 29 พ.ย. “เหมือนกับการสอบปากคำ” ของตำรวจ

เธอตอบโต้ความเห็นที่ออกมาปกป้องเลดี้ฮัซซี่ว่าบทสนทนาแบบนี้เป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัย แต่เป็นเรื่องของการไม่ให้เกียรติกัน

“ดิฉันอยากถามจริง ๆ ว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในพื้นที่ที่จัดขึ้นเพื่อการรณรงค์ให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงจากความรุนแรงทุกชนิด แม้เรื่องนี้ไม่ใช่ความรุนแรงโดยการใช้กำลัง แต่ก็ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดแบบหนึ่ง”

Buckingham Palace reception for campaigners against domestic violence

PA Media

บทสนทนาเต็ม

เธอเล่าให้เว็บไซต์ข่าวอินดิเพนเดนท์ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ถูก Lady SH (เธอไม่ยอมเอ่ยชื่อเต็ม) เอามือมาปัดผมที่บังป้ายชื่อบนอกเสื้อ เพื่อดูชื่อเสียงเรียงนามของเธอ แล้วลำดับบทสนทนาอย่างละเอียดยิบ

Lady SH: เธอมาจากไหน

ดิฉัน : Sistah Space

SH: ไม่ใช่ เธอมาจากแถวไหน

ดิฉัน: สำนักงานเราอยู่ที่แฮ็กนีย์ (ย่านหนึ่งในลอนดอน)

SH: ไม่ใช่ เธอมากจากส่วนไหนของแอฟริกา

ดิฉัน : ดิฉันไม่ทราบค่ะ พวกเขาไม่ได้บันทึกไว้

SH: เอิ่ม เธอต้องรู้สิ คุณมาจากที่ไหน ฉันเคยอยู่ฝรั่งเศสมาก่อน แล้วคุณมาจากไหน

ดิฉัน: อยู่ที่นี่ละค่ะ สหราชอาณาจักร

SH: ไม่ใช่ เธอถือสัญชาติอะไร

ดิฉัน: ดิฉันเกิดที่นี่ และมีสัญชาติอังกฤษค่ะ

SH: ไม่สิ จริง ๆ แล้วเธอมาจากไหน คนของพวกเธอมาจากไหน

ดิฉัน: ‘คนของดิฉัน’, คุณผู้หญิง หมายความว่าอย่างไรคะ

SH: อืม ฉันว่าคงยากนะที่จะให้เธอบอกว่าเธอมาจากไหน เธอมาที่นี่ครั้งแรกตอนไหน

ดิฉัน: คุณผู้หญิงคะ ดิฉันถือสัญชาติอังกฤษ พ่อแม่ดิฉันมาที่นี่ช่วงทศวรรษ 1950 ตอนที่….

SH: อ้า ในที่สุดฉันก็รู้ละว่า เธอเป็นพวกแคริบเบียน!

ดิฉัน: มิได้คะ คุณผู้หญิง ดิฉันมีรากเหง้าจากแอฟริกา , สืบเชื้อสายจากแคริบเบียน และถือสัญชาติอังกฤษ

SH: อ้า ฉันรู้ละว่าเธอมาจาก…

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว