มาร์ติน ลูเธอร์ คิง : ข้อเท็จจริงที่น้อยคนจะรู้เกี่ยวกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ

ในคำปราศรัย “I Have a Dream” หรือ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” อันโด่งดัง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เรียกร้องให้คนทุกเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกาได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม หลายทศวรรษผ่านไป ยังมีสัญญาณมากมายที่สะท้อนว่า “ความฝัน” ของคิงยังไม่กลายเป็นจริง

ในโอกาสเฉลิมฉลองวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในสหรัฐอเมริกาวันที่ 16 ม.ค. บีบีซีชวนทำความรู้จักข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งที่น้อยคนจะรู้

ไมเคิล คิง

ตอนเกิดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 1929 เขาถูกตั้งชื่อว่า ไมเคิล คิง ตามชื่อพ่อเขา แต่ 6 ปีหลังจากนั้น พ่อของคิงเดินทางไปเยอรมนีและได้เรียนรู้เกี่ยวกับมาร์ติน ลูเธอร์ นักปฏิรูปศาสนาชาวเยอรมัน ว่ากันว่าเขาได้รับแรงบันดาลมากจนตัดสินใจกลับมาเปลี่ยนชื่อลูกชายคนโตเป็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

คำปราศรัย “ข้าพเจ้ามีความฝัน” เป็นการด้นสด

เมื่อปี 1963 หลังจากปราศรัยไปได้ครึ่งหนึ่ง นักร้องแนวเพลงกอสเปล มาฮาลา แจ็คสัน ตะโกนบอกคิงว่า “บอกพวกเขาเรื่องความฝันสิ มาร์ติน!”

นี่ทำให้คิงเปลี่ยนมาพูดเรื่องความฝันให้ลูก ๆ เขาได้อยู่ในประเทศที่ไม่มีคนตัดสินกันจากสีผิว ซึ่งกลายเป็นคำปราศรัยอันโด่งดังในเวลาต่อมา

ถูกจับมากกว่า 25 ครั้ง

ตลอดการเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเรือน 13 ปี คิงถูกจับกุมถึง 30 ครั้ง ส่วนใหญ่เพราะความประพฤติมิชอบและการฝ่าฝีนกฎหมายเพื่อประท้วงด้านสิทธิพลเรือน

เมื่อเดือน ต.ค. ปี 1960 หลังจากไปนั่งประท้วงในห้างสรรพสินค้าในเมืองแอตแลนตา เขาถูกคุมขังที่เรือนจำรัฐจอร์เจีย

เขาเขียนจดหมายหาภรรยา คอเร็ตตา จากเรือนจำว่า เขาหวังว่า “ความเจ็บปวดมากมายที่ครอบครัวเราต้องเจอจะช่วยในทางเล็กๆ น้อยๆ ในการทำให้แอตแลนตาเป็นเมืองที่ดีขึ้น ทำให้จอร์เจียเป็นรัฐที่ดีขึ้น และทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ดีขึ้น”

เคยรอดการพยายามสังหารมาก่อน

เมื่อเดือน ก.ย. ปี 1958 มีหญิงที่ป่วยทางจิตเดินเข้ามาหาเขาขณะที่เขากำลังเซ็นหนังสือเล่มล่าสุดของเขา “Stride Toward Freedom” ที่ย่านฮาเร็ม นิวยอร์ก หลังจากถามให้แน่ใจแล้วว่าเขาคือมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เธอก็แทงเขาด้วยมีดยาว 7 นิ้ว

แพทย์บอกว่าเขารอดตายมาอย่างเฉียดฉิวเพราะมีดเข้าไปใกล้หลอดเลือดแดงใหญ่มาก หลังจากเขาทราบว่าผู้หญิงคนนั้นป่วยทางจิต เขาบอกว่า “ผมไม่ได้มีความรู้สึกเคียดแค้นต่อตัวเธอ” และเรียกร้องให้เธอคนนี้ได้รับการรักษาทางจิตด้วย

แม่เขาถูกสังหาร

วันที่ 30 มิ.ย. 1974 ซึ่งคือ 6 ปีหลังจากการสังหารคิง ชายวัย 23 ปียิงปืนสังหารแม่ของคิง อัลเบอร์ตา วิลเลียมส์ คิง ขณะเธอกำลังเล่นดนตรีอยู่ในโบสถ์

ตอนแรกเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาถูกตัดสินโทษใหม่เป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวของคิงไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต

ค่าโรงพยาบาลจูเลีย โรเบิร์ตส์

นักแสดงชื่อดัง จูเลีย โรเบิร์ตส์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับเกย์ล คิง เมื่อไม่นานมานี้ว่าครอบครัวของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นผู้จ่ายค่าบริการในโรงพยาบาลตอนที่เธอเกิดให้

ครอบครัวโรเบิร์ตส์สนิทสนมกับครอบครัวคิงเพราะพ่อแม่ของจูเลีย โรเบิร์ตส์ ช่วยต้อนรับลูกๆ คิง ตอนที่ไปเข้าเรียนโรงเรียนการแสดงในแอตแลนตา ในเวลาต่อมา ตอนที่จูเลีย โรเบิร์ตส์ เกิดและพ่อแม่ของเธอไม่มีเงิน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และภรรยาของเขา เป็นผู้ช่วยออกเงินให้

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว