“สงครามลูกผสม” คืออะไร เยือนศูนย์ศึกษาภัยคุกคามโลกยุคใหม่ในฟินแลนด์

 

Nord Stream worker at controls

Getty Images

เชื่อว่าเหตุระเบิดใต้ทะเลบอลติก จนทำให้เกิดรูโหว่ที่ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมเมื่อปีก่อน เป็นการสงครามลูกผสมอย่างหนึ่ง เพื่อลงโทษที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้การรุกรานของรัสเซีย

เหตุระเบิดใต้น้ำปริศนา การโจมตีทางไซเบอร์ของกลุ่มคนนิรนาม และขบวนการบ่อนทำลายประชาธิปไตยในชาติตะวันตกอันแยบยล เหล่านี้ล้วนเป็น “ภัยคุกคามแบบผสมผสาน” (hybrid threats)

บีบีซีได้เยี่ยมชมศูนย์ทำงานที่มีเป้าหมายต่อสู้กับสงครามรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งกำลังสร้างความวิตกกังวลให้ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต และสหภาพยุโรป หรือ อียู

Short presentational grey line

BBC

ดร.เทยา ทิลลิไคเนน ให้คำนิยามคำว่า “สงครามลูกผสม” (hybrid warfare) เอาไว้ว่า “มันคือการสร้างความวุ่นวายต่อพื้นที่สารสนเทศ มันคือการโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ”

เธอคือผู้อำนวยการศูนย์เพื่อความเป็นเลิศในการต่อสู้ภัยคุกคามผสมผสานแห่งยุโรป (European Centre of Excellence for Countering Hybrid Threats หรือ Hybrid CoE) ที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงเฮลซิงกิ ของฟินแลนด์ เมื่อ 6 ปีก่อน

ดร.ทิลลิไคเนน อธิบายว่า มันคือรูปแบบของภัยคุกคามที่ไม่ชัดเจน ซึ่งประเทศต่าง ๆ มองว่าเป็นภัยที่ยากในการต่อต้าน และการปกป้องตนเอง

แต่ภัยเหล่านี้เป็นอันตรายอย่างแท้จริง

เมื่อเดือน ก.ย.ปีก่อน เกิดเหตุระเบิดใต้ทะเลบอลติก ทำให้เกิดรูโหว่ที่ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม (Nord Stream) บริเวณระหว่างแนวชายฝั่งเดนมาร์กและสวีเดน ท่อนี้สร้างขึ้นเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังตอนเหนือของเยอรมนี

รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องอย่างทันควัน แต่บรรดาชาติตะวันตกสันนิษฐานว่ากรณีที่เกิดขึ้นอาจมาจากการที่รัสเซียต้องการตัดช่องทางส่งพลังงานเชื้อเพลิงแก่ชาติตะวันตก เพื่อลงโทษที่ให้การสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้การรุกรานของรัสเซีย

นอกจากนี้ยังมีกรณีแทรกแซงการเลือกตั้ง ซึ่งขณะเกิดเหตุมีผู้ตระหนักถึงภัยรูปแบบนี้เพียงไม่กี่คน แต่ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 คณะสอบสวนได้ข้อสรุปว่ามีการแทรกแซงจากรัสเซีย เพื่อทำลายโอกาสของนางฮิลลารี คลินตัน และช่วยเหลือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธเช่นกัน

ข้อกล่าวหานี้ระบุว่า มีการใช้ “บอท” บัญชีออนไลน์ปลอมทางโซเชียลมีเดียที่ควบคุมโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งทำงานจากสำนักงานใหญ่ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

นอกจากนี้ ยังมีขบวนการเผยแพร่ข่าวปลอมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่รัสเซียยกทัพรุกรานยูเครน โดยเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และปล่อยข้อมูลเท็จ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงในสงครามที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้คนทั้งในรัสเซียและต่างประเทศเชื่อว่า การทำสงครามครั้งนี้เป็นการ “ปกป้องตนเอง” ของรัสเซีย

การจะช่วยรัฐบาลชาติตะวันตกในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามเหล่านี้ นาโตและอียูจึงก่อตั้ง Hybrid CoE ขึ้นในฟินแลนด์ เพราะเป็นชาติที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางทางการเมืองมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่พ่ายแพ้ในสงครามฤดูหนาวที่รัสเซียเข้ารุกรานช่วงปี 1940

การที่มีพรมแดนติดรัสเซียเป็นระยะทาง 1,300 กม. ทำให้ฟินแลนด์เกิดความวิตกกังวลเรื่องภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นทุกขณะ และเริ่มหันเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกนาโตเมื่อปีก่อน

ที่ศูนย์ Hybrid CoE แห่งนี้ ดร.ทิลลิไคเนน นำทีมนักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จากชาติสมาชิกนาโตและอียูราว 40 คน ซึ่งรวมถึงชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกยืมตัวมาจากกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร

เธออธิบายว่า ขณะนี้ทีมงานมุ่งศึกษาพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือ และมีการทำแผนที่บ่งชี้ภัยผสมผสานที่อาจเกิดขึ้นได้

ดร.ทิลลิไคเนน ชี้ว่าบริเวณนี้มีแหล่งทรัพยากรพลังงานแห่งใหม่เกิดขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าบรรดาชาติมหาอำนาจจะพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตน นอกจากนี้ยังพบการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอย่างมาก

“คำพูดของรัสเซียคือขั้วโลกเหนือเป็นภูมิภาคพิเศษที่อยู่นอกความขัดแย้ง และจะไม่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันรัสเซียกลับเสริมกำลังทหารที่นั่น” เธออธิบาย

Baltic Sea

BBC
ภัยคุกคามลูกผสม เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ และการโจมตีใต้ทะเล เช่นเหตุระเบิดท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมระหว่างชายฝั่งเดนมาร์ก-สวีเดน เมือปีก่อน

บางที ความแตกต่างสำคัญของภัยคุกคามลูกผสมก็คือ คือภัยลักษณะนี้มักไม่ใช่การโจมตีทางทหารแบบดั้งเดิมที่ใช้อาวุธทำร้ายกัน แต่จะเป็นการลอบโจมตีที่ไม่เปิดเผยว่าเป็นฝีมือใครอย่างชัดเจน และมักมีอันตรายน้อยกว่า

ภัยลักษณะนี้ทำให้ยากจะบ่งชี้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง เช่น เหตุโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ต่อเอสโตเนียในปี 2007 หรือเหตุท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมระเบิดใต้ทะเลบอลติกเมื่อปีก่อน ซึ่งกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่ทิ้งร่องรอยหรือหลักฐานให้เอาผิดได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายหนทางที่ชาติหนึ่งจะสร้างความเสียหายให้ชาติอื่นโดยไม่ต้องใช้ปฏิบัติการโจมตีทางทหารโดยตรง

Hybrid CoE ได้จัดทำคู่มือที่รวบรวม และจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากภัยรูปแบบนี้เอาไว้ให้ชาติต่าง ๆ เฝ้าระวังตัว เช่น การใช้อาวุธโจมตีใต้น้ำเพื่อประกาศเขตควบคุมรอบเกาะ หรือการปิดช่องแคบต่าง ๆ

หนึ่งในเหตุการณ์จริงที่ศูนย์แห่งนี้ได้ศึกษาอย่างละเอียดก็คือปฏิบัติการของรัสเซียในทะเลอะซอฟก่อนหน้าจะเข้ารุกรานยูเครน

ตั้งแต่เดือน ต.ค.2018 เป็นต้นมา การที่เรือสินค้ายูเครนจะเดินทางออกสู่ทะเลดำได้นั้น จะต้องเข้าคิวเพื่อรับการตรวจจากเจ้าหน้าที่รัสเซียเสียก่อน ซึ่งความล่าช้านี้อาจกินเวลาหลายวันไปจนถึง 2 สัปดาห์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อยูเครน

ส่วนในแง่ของการเผยแพร่ข่าวปลอมนั้น ผู้เชี่ยวชาญของ Hybrid CoE ได้ศึกษาและประเมินผลสำรวจความเห็นประชาชนทั่วยุโรป และพบว่ารัสเซียคือฝ่ายชนะในสงครามข่าวสารครั้งนี้

ยกตัวอย่างในเยอรมนี ที่การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลรัสเซียที่ว่า การโจมตียูเครนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การยั่วยุของนาโตนั้นกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่วนในสโลวาเกียนั้น มีผู้ร่วมแสดงความเห็นกว่า 30% ที่เชื่อว่าสงครามในยูเครนเกิดจากการจงใจยั่วยุของชาติตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ดร.ทิลลิไคเนน ระบุว่า บทบาทของ Hybrid CoE ไม่ใช่การออกมาตรการต่อสู้กับภัยลูกผสมเหล่านี้ แต่คือการประเมิน และฝึกฝนให้ผู้อื่นเรียนรู้การปกป้องยุโรปจากภัยที่กำลังคุกคามความมั่นคงของภูมิภาคมากขึ้นทุกขณะ

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว