สงครามอิรัก : ผลสำรวจชี้ ชาวอิรักส่วนใหญ่บอกประเทศภายใต้การปกครอง

ผลสำรวจชิ้นใหม่ชี้ ชาวอิรักส่วนใหญ่บอกว่าประเทศย่ำแย่ลงตั้งแต่สหรัฐอเมริกานำทัพเข้ารุกรานอิรักเมื่อปี 2003 และโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน

Gallup International องค์กรจัดทำแบบสำรวจที่ไม่แสวงผลกำไรระดับโลก จัดทำผลสำรวจนี้โดยการเข้าไปสอบถามผู้คนทั่ว 18 เขตในอิรัก โดยเลือกผู้ใหญ่ที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ 2,024 คน เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2023

เมื่อถามถึงสภาพประเทศ ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% บอกว่าประเทศแย่กว่าเดิมหลังจากการบุกรุกรานของสหรัฐฯ ขณะที่ 40% บอกว่าดีขึ้น

กลุ่มชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นหลังปี 2003 ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมุสลิมนิกายซุนนี ชาวเคิร์ด และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ

ความแตกแยกนี้ปรากฏชัดในผลสำรวจโดยชาวมุสลิมนิกายซุนนี โดยราว 54% เชื่อว่าชีวิตภายใต้การปกครองของซัดดัมดีกว่า

ผลสำรวจ

BBC

แม้ผลสำรวจจะดูน่าสิ้นหวัง แต่ก็มีสัญญาณของพัฒนาการต่าง ๆ โดยทุกวันนี้มีแค่ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดที่คิดว่าประเทศทุกวันนี้ “ยากจน”อยู่ เทียบกับผลสำรวจที่ Gallup International เคยทำไว้เมื่อปี 2003 ที่ชาวอิรักเกือบ 2 ใน 3 บอกว่าประเทศยากจน

ชายอิรักวัย 45 ปีคนหนึ่งบอกทีมจัดทำแบบสำรวจว่า “ยากที่จะวัดว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง ความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความหวังและเรามักจะลืมอดีตไป”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำทัพบุกอิรักโดยเชื่อว่าอิรักมี “อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง” (weapons of mass destruction หรือ WMD) และซัดดัมเป็นภัยต่อความมั่นคงโลก

อย่างไรก็ดี ไม่เคยพบหลักฐานว่าอิรักมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงอยู่จริง และสงครามทำให้ชาวอิรักจำนวนมากเสียชีวิต และนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในประเทศ

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะพยายามบอกว่ามีเหตุผลเพียงพอให้บุกรุกราน ดูเหมือนชาวอิรักหลายคนยังสงสัยว่าสหรัฐฯ มีจุดประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ชาวอิรัก 51% เชื่อว่าสหรัฐฯ บุกอิรัก เพราะอยากได้ทรัพยากรในประเทศ โดยคนในเขตทางตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเชื่อเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ผลสำรวจ

BBC

ผู้ตอบแบบสำรวจ 29% เชื่อว่าสหรัฐฯ บุกอิรักเพื่อโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซน เหตุผลอื่น ๆ ที่คนบอกว่าทำให้สหรัฐฯ บุกรุกรานได้แก่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทค้าอาวุธในสหรัฐฯ, เพื่อต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย และเพื่อนำประชาธิปไตยมาสู่อิรัก

ผลที่ตามมาหลังการรุกรานของสหรัฐฯ คือ กลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแบ่งแยกนิกายศาสนาออกมาปฏิบัติการตามท้องถนน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านเห็นช่องทางที่จะเข้าไปมีอิทธิพลเพราะ 60% ของประชากรในอิรักเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ซึ่งถูกซัดดัมกดขี่มานานแล้ว

ในเวลาต่อมา มีการเกิดขึ้นของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวมุสลิมนิกายซุนนีทางเหนือ เกิดเป็นสงครามการต่อสู้ครั้งใหม่ในปี 2014

กรุงแบกแดดได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร โดยสามารถขับไล่กลุ่มไอเอสออกไปได้ในปี 2018

จากแบบสำรวจ ชาวอิรักมีความเห็นแตกแยกกันเรื่องทหารสหรัฐฯ ที่ไปประจำการอยู่ในประเทศ จากที่เคยมีมากที่สุดถึงเกือบ 170,000 นาย ในปี 2007 ตอนนี้เหลือทหารอยู่ประมาณ 2,500 นาย

ผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอยากให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกไปทันที ขณะที่ชาวอิรักทางตอนเหนือบอกว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีทหารสหรัฐฯ อยู่

ผลสำรวจ

BBC

ชาวอิรักที่เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ราว 75% มองว่าการบุกรุกรานของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรเป็นเรื่องไม่ดี โดยพวกเขามองรัสเซียเป็นพันธมิตรทั้งทางการเมืองและความมั่นคง

ผลสำรวจ

BBC
ผลสำรวจ

BBC

คนหนุ่มสาว

อนาคตสำหรับคนหนุ่มสาวดูน่าหดหู่เป็นพิเศษ ชาวอิรัก 47% อยากจะอยู่เพื่อสร้างประเทศขึ้นใหม่ ขณะที่ 25% อยากจะอพยพออกจากประเทศ เมื่อแบ่งช่วงอายุแล้วจะเห็นภาพชัดเจนเป็นพิเศษ ในหมู่ชาวอิรักช่วงอายุ 18-24 ปี มีถึงเกือบ 1 ใน 3 ที่อยากออกจากประเทศ

ผลสำรวจ

BBC

อย่างไรก็ดี ตัวเลขสถิติไม่อาจสะท้อนความซับซ้อนของประเทศนี้ได้หมด สำหรับชาวอิรักหลายล้านคน สองทศวรรษที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความไม่สงบและเหตุการณ์ที่ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ

อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ ต้องแบกรับปัญหาจากอดีตและก็พยายามสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมไปด้วย

ตอนนี้ ประชากรอย่างน้อย 40% ในอิรักอายุน้อยกว่า 15 ปี ดูเหมือนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะอยากได้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โอกาสในหน้าที่หน้าที่การงาน และก็หวังอยากได้สันติภาพและเสถียรภาพด้วย

 

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว