นักชีวฟิสิกส์เผยคำอธิบายใหม่ เหตุใดไม่เคยมีเอเลียนติดต่อมนุษย์โลก

Getty Images

นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการชีวฟิสิกส์เชิงสถิติของสถาบัน EPFL ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสนอแนวคิดใหม่ซึ่งอาจช่วยไขความกระจ่างต่อข้อสงสัยที่ว่า มนุษยชาติเกิดขึ้นและดำรงอยู่บนโลกใบนี้มานานแสนนาน เหตุใดจึงไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวเข้ามาติดต่อสื่อสารด้วยเลย

คำอธิบายดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Astronomical Journal ฉบับล่าสุด ระบุว่าที่ผ่านมาโลกอาจอยู่ใน “ฟองอวกาศ” หรือพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เส้นทางที่สัญญาณคลื่นวิทยุจากเขตแดนภายนอกจะเฉียดกรายผ่านเข้ามา

ดร. คลอดิโอ กรีมัลดิ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “ห้วงจักรวาลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แต่มนุษย์เราเพิ่งเริ่มค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตต่างดาวมาได้เพียง 60 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า เราอยู่ในเขตพื้นที่ปลอดสัญญาณวิทยุ (radio silence) มาโดยตลอด ทำให้ยากที่เอเลียนซึ่งอาจมีอยู่ไม่กี่เผ่าพันธุ์จะสามารถส่งสัญญาณมาติดต่อสื่อสารกับเราได้”

ทีมวิจัยของ ดร. กรีมัลดิ ได้รับแรงบันดาลใจจากฟองน้ำในธรรมชาติที่เป็นรูพรุน ซึ่งทำให้จินตนาการได้ว่าห้วงอวกาศก็อาจมีโครงสร้างการแผ่กระจายของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแบบเดียวกัน โดยภายในรูพรุนแต่ละแห่งนั้นคือฟองอวกาศที่สัญญาณวิทยุจากอารยธรรมต่างดาวไม่ได้เดินทางผ่านเข้ามา

มีการสร้างแบบจำลองทางสถิติขึ้นจากสมมติฐานดังกล่าว โดยมีข้อกำหนดพื้นฐานว่า จะต้องมีการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบใดแบบหนึ่งจากอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีระดับสูงในกาแล็กซีทางช้างเผือกอยู่เสมอ อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกช่วงเวลา

เมื่อนำสถานการณ์ดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษยชาติไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ จากอารยธรรมต่างดาวมาเป็นเวลานานถึง 60 ปีแล้ว นับตั้งแต่เริ่มออกค้นหาด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ผลการคำนวณที่ได้จากสถานการณ์เช่นนี้จะบ่งชี้ว่า แท้จริงแล้วมีสัญญาณจากเอเลียนถูกส่งออกมาน้อยกว่า 1-5 ครั้งต่อศตวรรษ ภายในขอบเขตกาแล็กซีทางช้างเผือก

ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงตรวจพบสัญญาณดังกล่าวได้ยากมาก เพราะโอกาสนั้นเทียบเท่ากับอัตราการเกิดซูเปอร์โนวาในดาราจักรของเรา ซึ่งนานนับพันปีจะมีสักครั้ง

หากมองโลกในแง่ดีสักหน่อย มนุษย์มีโอกาสที่จะตรวจจับสัญญาณจากเอเลียนได้อย่างเร็วที่สุดภายใน 60 ปี แต่ในสถานการณ์แบบเลวร้ายที่สุดนั้น จะต้องใช้เวลายาวนานอย่างน้อยถึง 2,000 ปี เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับโชคชะตาว่าเราจะหันจานรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปถูกทิศทางในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่

“ที่ผ่านมาถือว่ามนุษยชาตินั้นโชคร้าย เพราะแม้เราจะคิดค้นกล้องโทรทรรศน์วิทยุได้ แต่ก็อยู่ในช่วงที่โลกผ่านเข้าไปในห้วงอวกาศส่วนที่ปลอดสัญญาณวิทยุจากอารยธรรมต่างดาว” ดร. กรีมัลดิกล่าว

“นอกจากนี้ เอเลียนที่มีความเจริญในระดับสูงอาจจับกลุ่มกันอยู่ในระบบดาวเคราะห์แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้กระจายกันตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของห้วงจักรวาลอย่างในสมมติฐานนี้ ซึ่งจะทำให้การค้นหายากขึ้นไปอีก”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว