เปิดแผนลอบปลงพระชนม์ควีนอังกฤษในสหรัฐฯ

Getty Images ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และ ปธน. โรนัลด์ เรแกน ในงานเลี้ยงที่นครซานฟรานซิสโก เมื่อปี 1983

เอกสารที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่จากสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ เผยว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสี่ยงเผชิญการลอบปลงพระชนม์ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ในปี 1983

เอฟบีไอ ได้เผยแพร่เอกสารที่เก็บรักษาไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ของพระองค์ภายหลังการสวรรคต เมื่อปี 2022

เอกสารเหล่านี้ชี้ว่า เอฟบีไอ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยอารักขาควีนเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐฯ ท่ามกลางความวิตกถึงภัยคุกคามจากกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือ ไออาร์เอ

รายละเอียดในเอกสาร ระบุเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่นายหนึ่งที่มักไปผ่อนคลายที่ผับไอริชในนครซานฟรานซิสโก ได้เตือนเอฟบีไอว่า เขาได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งที่ได้พบที่ผับดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ชายคนนั้นบอกเขาว่า เขาหวังจะแก้แค้นให้บุตรสาวที่ “ถูกสังหารในไอร์แลนด์เหนือด้วยกระสุนยาง”

การขู่ลอบปลงพระชนม์นี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 1983 หรือราว 1 เดือนก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยพระราชสวามี เจ้าชายฟิลิป จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ

“ชายคนนี้ พยายามจะทำอันตรายกับควีนเอลิซาเบธ ด้วยการทิ้งวัตถุบางอย่างลงมาจากสะพานโกลเดนเกต ไปยังเรือยอร์ชพระที่นั่งบริแทนเนีย ในช่วงที่เรือกำลังลอดใต้สะพาน หรือไม่ก็พยายามปลงพระชนม์ควีนเอลิซาเบธ ช่วงที่พระองค์เสด็จเยือนอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี” เอกสารระบุ

Getty Images

Getty Images
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิปเสด็จฯ เยือนอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี

เพื่อรับมือภัยคุกคามนี้ หน่วยอารักขาประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือซีเคร็ทเซอร์วิส (Secret service) มีแผนที่จะ “ปิดทางเดินเท้าบนสะพานโกลเดนเกต ในช่วงที่เรือพระที่นั่งเคลื่อนเข้ามาใกล้” อย่างไรก็ดี ไม่แน่ชัดว่า ทางการสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างไรที่อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี แต่การเสด็จพระราชดำเนินของกษัตริย์อังกฤษ ดำเนินต่อไปตามกำหนดการณ์ และเอฟบีไอไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า มีการจับกุมใครบ้างหรือไม่

เอกสารจำนวน 102 หน้านี้ ได้ถูกอัปโหลดขึ้น Vault ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารของเอฟบีไอ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 พ.ค. 2023) ตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) ที่สื่อสหรัฐฯ ได้ส่งคำร้องขอต่อทางการสหรัฐฯ

เป็นความจริงที่ว่า ช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ของอดีตกษัตริย์แห่งอังกฤษ รวมถึงในปี 1983 ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนเวสต์โคสต์ หรือภูมิภาคฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกำลังพุ่งสูง จากสถานการณ์ความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ หรือที่เรียกว่า “เดอะทรับเบิลส์” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากมีพลเรือนในไอร์แลนด์เหนือถูกทหารอังกฤษสังหาร อีกทั้งยังไม่มีผู้ใดถูกนำตัวมาลงโทษจากกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน

Getty Images

Getty Images
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

ก่อนหน้านั้น ในปี 1976 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ เช่นกัน โดยประทับในนครนิวยอร์ก เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองการก่อตั้งประเทศของสหรัฐฯ ครบรอบสองศตวรรษ หรือ 200 ปี และพระองค์ก็ทรงเผชิญภัยคุกคามด้วยเช่นกัน

เอกสารเปิดเผยว่า ทางการสหรัฐฯ ได้ออกหมายเรียกนักบินคนหนึ่งที่บินเครื่องบินเล็กเหนือสวนสาธารณะแบตเตอรี โดยติดป้ายบนเครื่องบิน อ่านได้ว่า “อังกฤษ ออกไปจากไอร์แลนด์”

เอกสารยังแสดงให้เห็นว่า เอฟบีไอมีความตื่นตัวอยู่เสมอ ต่อภัยคุกคามที่พิจารณาว่าอาจเป็นภัยคุกคามที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้สูง ต่อควีนเอลิซาเบธที่ 2

ส่วนหนึ่งเพราะ หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน พระมาตุลาของเจ้าชายฟิลิป และพระอนุวงษ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี 1979 โดยการวางระเบิดบนเรือตกปลาของพระองค์ในไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นฝีมือของสมาชิกไออาร์เอ

ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐเคนทักกีในปี 1989 ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 บันทึกข้อความภายในของเอฟบีไอ ระบุว่า “มีโอกาสเกิดภัยคุกคามต่อกษัตริย์อังกฤษครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากไออาร์เอ”

บันทึกข้อความอ่านต่อได้ว่า “ได้ขอให้ทางการเมืองบอสตันและนิวยอร์ก ตื่นตัวต่อภัยคุกคามใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับควีนเอลิซาเบธที่ 2 จากสมาชิกกลุ่มไออาร์เอ และให้เร่งดำเนินการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยแบบเดียวกันในเมืองหลุยส์วิลล์” รัฐเคนทักกี ด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นเจ้าของสนามม้าแข่งหลายแห่ง และเป็นที่รู้กันว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐเคนตักกีหลายครั้งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการแข่งม้าครั้งสำคัญ ๆ รวมถึง เคนทักกี เดอร์บี

ระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1991 อดีตกษัตริย์อังกฤษทรงมีกำหนดรับชมการแข่งขันเบสบอล พร้อมกับประธานาธิบดีจอร์จ เอช บุช

ตอนนั้น เอฟบีไอได้เตือนไปยังหน่วยอารักษาประจำตัวประธานาธิบดีว่า “กลุ่มชาวไอริช” กำลังวางแผนจะประท้วงที่สนามกีฬา และ “กลุ่มไอริชได้จองตั๋วนั่งอัฒจันทร์ไว้เป็นจำนวนมาก” เพื่อเข้าชมการแข่งขันดังกล่าว

เอฟบีไอ บอกกับ เอ็นบีซีนิวส์ ว่า อาจมี “บันทึกเพิ่มเติม” นอกเหนือจากเอกสารที่เผยแพร่ไปในสัปดาห์นี้ แต่เอฟบีไอไม่ได้กำหนดการเผยแพร่เอกสารอื่นใดเพิ่มเติมในเวลานี้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว