ประธานสภายังไม่เคาะ-ขอคุยแค่ 2 พรรค พร้อมเปิดตำแหน่งนับพันที่ก้าวไกลต้องจัดสรรคน

เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่ประชุมแกนนำ 8 พรรคการเมืองที่ประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลผสม 312 เสียง วันนี้ (30 พ.ค.) มีมติจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประชาชน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านว่า “มันไม่ควร มันไม่สมควร ส่วนราชการเขายังอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน วันหน้าเขาก็เตรียมข้อมูลต่าง ๆ ส่งมอบ ซึ่งผมก็ย้ำไปหลายครั้งแล้ว”

คณะกรรมการชุดนี้ มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 เป็นประธาน ทำหน้าที่หาทางออกร่วมกันของทุกพรรคในการแก้ปัญหาของประเทศ เพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายร่วมกันในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

“การจัดสรรตำแหน่งในฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงานร่วมกัน โดยยึดการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง” นายพิธาแถลง ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ

ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง 2 พรรคใหญ่ต่างแสดงความประสงค์จะครอบครองเก้าอี้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นโควต้าของพรรคใด นายพิธากล่าวว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรค ก.ก. จะพิจารณาร่วมกัน ซึ่งยังไม่มีเวลาเจาะจงว่าต้องเสร็จภายในเมื่อไร

ทั้งนายพิธา และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ยืนยันตรงกันว่า “เรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล”

“เรามัดกันแน่นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องการให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นลักษณะสนับสนุนการเลือกนายกฯ ได้ ไม่เป็นอุปสรรค และมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชน ตามที่ประชาชนมุ่งหวังอยากได้รัฐบาลประชาธิปไตย และทำให้เร็วที่สุด” นพ.ชลน่านกล่าว และย้ำว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อเป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้”

ทิม

Thai News Pix/ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า “ประชาชนหวังว่า กกต. จะใช้เวลาไม่นานในการรับรอง ส.ส. เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้เข้าไปบริหาร”

 

นอกจากเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ยังมีโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) เริ่มปรากฏในสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ทว่าหัวหน้าพรรค ก.ก. และพรรค พท. บอกตรงกันว่า การจัดตั้ง ครม. จะทำเมื่อถึงเวลาเหมาะสม ใช้การทำงานเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาบุคคลเป็นตัวตั้ง

นอกจากเก้าอี้ประธานสภาและเก้าอี้ ครม. ยังมีตำแหน่งอีกนับพันตำแหน่งที่ 8 พรรคการเมืองต้องคัดเลือกและจัดสรรบุคลากรไปดำรงตำแหน่ง

เฉพาะพรรคสีส้ม มีการพูดกันภายในพรรคว่าต้องหาบุคลากรมาลงตำแหน่งเกือบพันตำแหน่ง ซึ่งนักการเมืองพรรค ก.ก. รายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า พรรคไม่ได้ประสบปัญหา “ตำแหน่งหล่นใส่” จนบริหารจัดการไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาก่อน โดยยืนยันว่ามีบุคลากรเยอะมาก ทั้งอดีตผู้สมัคร ส.ส. อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น เครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ และเครือข่ายนโยบายที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ

“เราคัดมาได้เลย ตอนนี้กำลังคัดกันอยู่ หรืออาจมีบุคคลภายนอกมาร่วมด้วยในบางตำแหน่ง เช่น ถ้าเป็นนักกฎหมายของรัฐก็จะคิดแบบหนึ่ง ถ้าต้องการผลักดันในเชิงนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามที่หาเสียงเอาไว้ ก็อาจต้องเลือกคนอีกประเภทหนึ่ง และมันมีคนอีกจำนวนมากเลยที่อยากช่วยงานพรรค แต่ไม่อยากออกหน้า” ว่าที่ ส.ส. ก้าวไกลกล่าว

ตำแหน่งนับพันที่พรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรต้องจัดหาคนไปลงในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีอะไรบ้าง และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร บีบีซีไทยรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้

สูตรจัดเก้าอี้ ครม.

8 พรรคการเมืองมีเสียงในสภารวมกัน 312 เสียง ขณะที่เก้าอี้ ครม. มีอยู่ 36 ตำแหน่ง ทำให้สูตรจัด ครม. อย่างง่าย-ตามธรรมเนียมการเมืองแบบไทย ๆ ที่มักนำจำนวนที่นั่งในสภา ไปหารด้วยจำนวนเก้าอี้ฝ่ายบริหารทั้งคณะ พบว่า อยู่ในสัดส่วน 8 ส.ส. ต่อ 1 รมต.

อย่างไรก็ตาม พรรคแกนนำรัฐบาลจำเป็นต้องลดทอนอัตราส่วนลง เพื่อจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้พรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส. ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ “พึงมีรัฐมนตรีได้” กรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ซึ่งเป็นการรวมกันของ 19 พรรคการเมือง มีเสียงในสภารวมกัน 253 เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะแกนนำจัตั้งรัฐบาล เปิดสัดส่วนมาที่ 7 ส.ส. ต่อ 1 รมต. อย่างไรก็ตามมีพรรคชาติพัฒนา (ชพน. – ชื่อในขณะนั้น) ซึ่งมี ส.ส. เพียง 3 คน ก็ได้เก้าอี้ รมต. 1 ตำแหน่งด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามจากนักการเมืองนอกพรรค ก.ก. บางส่วนที่ไปเดินสายเจรจากับ ส.ว. และ ส.ส. พรรคอื่น เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยหวังจะใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้ตนเอง นอกเหนือจากโควต้าที่พรรคต้นสังกัดได้รับการจัดสรร

  • พรรค ก.ก. (151 ที่นั่ง) คิดเป็น 48.4% ของรัฐบาล หากยึดตามสูตรเก่า ควรมีเก้าอี้รัฐมนตรี 18 ตำแหน่ง แต่ข่าวที่ปรากฏตามสื่อหลายสำนักคือ ก.ก. มีโควต้า 1 นายกฯ และ 14 รมต.
  • พรรค พท. (141 ที่นั่ง) คิดเป็น 45.19% ของรัฐบาล หากยึดตามสูตรเก่า ควรมีเก้าอี้รัฐมนตรี 17 ตำแหน่ง แต่ข่าวที่ปรากฏตามสื่อหลายสำนักคือ พท. จะได้รับโควต้า 14 รมต.
  • พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) คิดเป็น 2.88% ของรัฐบาล โดยปรากฏข่าวว่าจะได้รับโควต้า 1 รัฐมนตรีว่าการ (รมว.)
  • พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง) คิดเป็น 1.92% ของรัฐบาล โดยปรากฏข่าวว่าจะได้รับโควต้า 1 รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.)
  • ส่วนที่เหลือเป็นพรรคจิ๋ว 4 พรรค มี ส.ส. รวมกัน 5 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) หากยึดตามสูตร ยังไม่เข้าเกณฑ์ได้รับโควต้า รมต.
วันนอร์

Thai News Pix/นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง จับมือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ทำมือรูปหัวใจร่วมกัน ตามแบบ 2 หัวหน้าพรรคใหญ่

ฝ่ายบริหาร 170 ตำแหน่ง

นอกจากเก้าอี้ ครม. ยังมีตำแหน่งข้าราชการการเมืองประเภทอื่น ๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ทั้งสิ้น 18 ประเภท รวมอย่างน้อย 149 ตำแหน่ง ดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
  • รองนายกรัฐมนตรี, รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) รวมทั้งหมด 35 ตำแหน่ง
  • ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5 ตำแหน่ง
  • ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหมด 35 ตำแหน่ง
  • เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (โควต้านายกฯ) 3 ตำแหน่ง
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (โควต้ารองนายกฯ ทำหน้าที่เลขานุการของรองนายกฯ นั่นเอง) จำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับจำนวนรองนายกฯ
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
  • รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ 3 ตำแหน่ง
  • เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับจำนวน รมต.ประจำฯ
  • ข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 30 ตำแหน่ง
  • เลขานุการรัฐมนตรี จำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับจำนวน รมว.
  • ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี จำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับจำนวน รมช.

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง โดยปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกฯ และตามกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 30 ตำแหน่ง

ฝ่ายนิติบัญญัติ 2.5 พันตำแหน่ง

เมื่อข้ามไปดูฝ่ายนิติบัญญัติ มีตำแหน่งสำคัญ ๆ รวมถึงทีมงานที่อยู่ในโควต้าของผู้แทนราษฎร ดังนี้

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง
  • รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง
  • ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) 1 ตำแหน่ง
  • ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ 35 ตำแหน่ง
  • ส.ส. 1 คน สามารถแต่งตั้งทีมงานได้ไม่เกิน 8 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. 1 คน ผู้ชำนาญประจำตัว ส.ส. 2 คน และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. 5 คน เมื่อรวม ส.ส. ของ 8 พรรคการเมือง 312 คน เท่ากับว่าจะมีทีมงานรวมกัน 2,496 ตำแหน่ง
สภา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

 

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ทั้งสิ้น 24 ประเภท เฉพาะตำแหน่งของพรรครัฐบาลมีราว 11 ตำแหน่ง ดังนี้

  • ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง
  • ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง
  • ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง
  • โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง
  • เลขานุการประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง
  • เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง
  • เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง
  • ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง
  • ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว