รัฐประหารเมียนมา : พยาบาลสาวผู้สละชีวิตเพื่อขบวนการต่อต้านเผด็จการทหาร

ราว 13.00 น.ของวันที่ 14 มิ.ย. สมาชิกของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (พีดีเอฟ) เดินทางถึงพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสองหมู่บ้าน ทางตะวันตกของแม่น้ำชี่น-ดวี่น ตอนกลางของเมียนมา

กลุ่มอาสาสมัครได้รับการแจ้งเตือนจากคนเลี้ยงวัว ผู้ซึ่งสังเกตุเห็นฝูงกากำลังจิกอะไรบางอย่างที่ดูราวกับซากศพ เมื่อพวกเขาเดินเข้าไป ก็พบกับแขนมนุษย์ที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน

นั่นคือแขนของวู คง ผู้ได้รับบาดเจ็บและหายตัวไประหว่างช่วงที่กองทัพเข้ามาโจมตีพวกเขาเมื่อสี่วันก่อนหน้า

ในหลุมฝังศพตื้น ๆ นั้น ยังพบอีก 4 ร่าง ซึ่งถูกแยกชิ้นส่วนอวัยวะและถูกเผา

จากหลักฐานเสื้อผ้า นาฬิกา และกระเป๋าพยาบาลที่ถูกพบอยุ่บริเวณใกล้เคียง พวกเขายังสามารถระบุร่างของ ซาลี หนาย พยาบาลวัย 27 ปี ผู้เดินทางมายังพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปีที่แล้วเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและประชาชนในพื้นที่

พวกเขาต่อสู้กับกองทัพเมียนมาที่ก่อการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.2021 เพื่อโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางออง ซาน ซู จี

ADVERTISMENT

พยาบาลสาวผู้นี้เต็มไปด้วยความกล้าหาญและความฉลาดหลักแหลม ผู้ที่การตัดสินใจต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพทำให้เธอต้องมีจุดจบอันน่าเศร้า บีบีซีสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของเธอผ่านการสัมภาษณ์เพื่อนและครอบครัว รวมถึงกลุ่มนักสู้และชาวบ้านในพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่จนเสียชีวิต

นี่ยังเป็นเรื่องราวการต่อสู้กับคณะรัฐประหารของชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและยากจนของเมียนมา

ชาวนา

ADVERTISMENT

ที่มาของภาพ, AFP

ซาลี หนาย คือลูกสาวคนเล็กสุดจากครอบครัวที่ยากจนครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพุกาม เธอมีพี่สาวอีก 3 คน แต่เธอเป็นเพียงคนเดียวที่เรียนหนังสือได้ดี ซารี หนาย ศึกษาต่อในสายพยาบาลและได้รับเข้าทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ ของเมียนมา

เธอทำงานอยู่ที่นั่นเมื่อตอนที่เกิดการรัฐประหารขึ้น เธอเข้าร่วมกับขบวนการอารยขัดขืน (ซีเอ็มดี) เฉกเช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนด้วยการไม่ไปทำงาน

หนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร เธอเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเอง ทว่าความกังวลถึงผลกระทบของการแสดงออกทางการเมืองของเธอที่อาจส่งต่อไปยังครอบครัวทำให้ซารี หนาย ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองมะกเวแทน เมืองดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ณ ที่นั่น เธอได้เข้าร่วมกับเครื่อข่ายแพทย์ใต้ดินอีกนับพันคน ผู้ละทิ้งงานของตัวเองออกมาดูแลผู้ประท้วงต่อต้านกองทัพ

ในเวลาเดียวกัน เธอยังพยายามเรียนต่อผ่านหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยพยาบาลชื่อดังในเมืองมัณฑะเลย์ เธอเริ่มเข้าศึกษาต่อในช่วงต้นปี 2020 แต่ก็ต้องมาเจอปัญหาจากวิกฤตโรคระบาด

“ตอนที่ฉันคุยกับเธอเมื่อเดือนก่อน เธอบอกฉันว่าเธอมีความสุขมากที่ตัวเองได้อยู่ที่นั่น” หนึ่งในที่ปรึกษาของเธอผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ให้กับเครือข่ายแพทย์ลับนี้ เล่า

“เธอมีความสุขอย่างมากตอนที่ได้สอนเหล่านักสู้จากกลุ่มพีดีเอฟให้ใช้อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะไม่มีบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นอยู่ในพื้นที่นั้นเลย เธอคือคนเดียวที่คอยให้บริการพวกเขา”

ออง ซาน ซู จี

ที่มาของภาพ, EPA

ประชาชนถือป้ายประท้วงให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี

ที่มาของภาพ, AFP

ซาลี หนาย ใช้เวลาราว 14 เดือน อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ดาน บิน กัน เธอได้รับเชิญให้เดินทางไปที่นั่นจากคิน ฮนิน เว เพื่อนของเธอที่ทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มี วิน จวอ นั่งเป็นครูใหญ่

วิน จวอ คือผู้นำขบวนการซีเอ็มดีผู้มีชื่อเสียง ซึ่งสันบสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลคู่ขนานหรือรัฐบาลเงาของคณะรัฐประหาร

หมู่บ้านดาน บิน กัน นับได้ว่าเป็นพืนที่เสรี กลุ่มพีดีเอฟตั้งฐานของพวกเขาไว้ใจกลางหมู่บ้าน ส่วนประชากรในพื้นที่ราว 2,500 คน นั้น คือชาวไร่ชาวนาที่ยังชีพด้วยการปลูกธัญพืชและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อดูแลปศุสัตว์ของพวกเขา

เป็นที่รู้กันดีว่านี่คือพื้นที่ที่จงรักภักดีกับนางออง ซาน ซู จี อย่างมาก ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้รับชัยชนะทุกที่นั่งในเมืองมะกเว ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ผู้ต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ดังกล่าวมีความเข้มแข็งเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ ทหารอาสาจำนวนมากต่อสู้กับกองทัพผ่านปืนทำขึ้นเองและระเบิดแสวงเครื่อง

หมู่บ้านดังกล่าวยังอยู่ห่างจากสะพานซิน ปวูย์ ชิน เพียง 6 กม.เท่านั้น สะพานดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นถนนไม่กี่เส้นที่ใช้ข้ามแม่น้ำชี่น-ดวี่นได้ ซึ่งสำคัญอย่างมากกับการเคลื่อนทัพและการเสริมกำลังอื่น ๆ

ซาลี หนาย ให้บริการทางการแพทย์กับชุมชนที่ไม่สามารถใช้บริการโรงพยาบาลท้องถิ่นได้อีกต่อไป เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนหนึ่งมีกองทัพเป็นผู้ดูแล ขณะที่บุคลากรทางแพทย์จำนวนมากก็เลือกที่จะหันหลังให้กับหน่วยงานที่มีกองทัพคอยบงการ

เพื่อนและนักสู้พีดีเอฟชี้ว่าเธอมีความมุ่งมั่นมากที่จะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับผู้ได้รับบาดเจ็บ และคอยปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับนักสู้

ซาลี หนาย

“ซาลีเป็นคนเข้มแข็งมาก” อาจารย์ที่ปรึกษาาคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกล่าว เครือข่ายแพทย์ใต้ดินของเมียนมาได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรการแพทย์เชื้อสายเมียนมาในสหราชอาณาจักร

“เธอเป็นคนมีชีวิตชีวา เธอไม่เคยเล่าถึงความยากลำบากของชีวิตตนเอง เธอมักถามคำถามที่เฉียบแหลมเมื่อเธอต้องการแก้ไขปัญหาที่มี แพทย์พยาบาลใต้ดินเหล่านี้สามารถเผชิญหน้ากับภาวะหดหู่ได้เมื่อพิจารณาสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ”

“บางครั้งคนไข้ก็ไปหาพวกเขาไม่ได้เพราะถนนถูกตัดหรือไม่ก็เพราะการสู้รบ และพวกเขาเองก็ส่งต่อคนไข้เหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลอื่นไม่ได้หากว่าคนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดที่ซับซ้อน นี่เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพวกเขา คนไข้หลายรายก็ไม่รอดชีวิต”

แต่ซาลี หนาย “ไม่ได้แสดงออกถึงความเสียใจต่อเส้นทางที่เธอเลือกเลย” เพื่อนคนหนึ่งของเธอที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองมักเว กล่าว

“มีหลายครั้งที่เธอคิดถึงครอบครัวตัวเอง เธอไม่เคยบอกพวกเขาว่าเธอกำลังทำอะไร หากพวกเขารู้ว่าเธอทำงานให้กับซีดีเอ็ม พวกเขาจะตกอยู่ในอันตราย”

“เราจะคอยพูดให้ผู้คนบริจาคเพื่อนำไปซื้อยาที่เราต้องใช้ เรามักคุยกันทางโทรศัพท์ และเราจะพูดถึงปัญหาทางการแพทย์ที่เราเจอ หรือเกี่ยวกับบทบาทในการสนับสนุนซีดีเอ็มของพวกเรา”

ในบัญชีเฟซบุ๊กของเธอ ซาลี หนาย ดูเป็นคนรักการอ่าน เธอโพสต์ภาพหนังสือนิยายภาษาพม่าที่เธอชื่นชอบเป็นภาพหน้าปก ขณะที่รูปในเฟซบุ๊กของเธอนั้น หากไม่เป็นตอนที่เธอกำลังอ่านหนังสือ ก็จะเป็นรูปเธอชูสามนิ้ว สัญลักษณ์การต่อสู้ซึ่งได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนึ่งในโพสต์ของเธอคือภาพของนางออง ซาน ซู จี ในช่วงที่อายุยังน้อยอยู่กับครอบครัวของเธอในสหราชอาณาจักร

หนึ่งวันก่อนที่ซาลี หนาย จะเสียชีวิต หรือวันที่ 9 มิ.ย. นักสู้พีดีเอฟสามคนรวมตัวกันเพื่อจู่โจมทหารเฝ้ายามบริเวณสะพานซิน ปูย์ ชิน ส่งให้ทหาร 3 รายเสียชีวิต และพวกเขาสามารถควบคุมสะพานดังกล่าวไปราว 2-3 ชั่วโมง

การโจมตีกลับจากฝั่งกองทัพเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในเช้าของวันที่ 10 มิ.ย. มีผู้พบเห็นทหารประมาณ 30 นาย ซึ่งเคลื่อนยานพาหนะจำนวน 4 คัน มุ่งหน้ามายังหมู่บ้านดาน บิน กัน จากทางตะวันออก

ทหารบางคนไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ทว่าทหารบางส่วนที่สวมเครื่องแบบนั้นสามารถจำแนกได้จากป้ายที่บริเวณไหล่ของพวกเขา ซึ่งในวันนั้นพบว่ามีมาจากกองพันทหารราบที่ 256, 257 และ 258 ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเยซาเกียว ราว 25 กม.ไปทางใต้

ช่วงเวลา 3.00 น. ชาวบ้านในหมู่บ้านดาน บิน กัน หลบหนีออกจากหมู่บ้านและมุ่งหน้าไปทางตะวันตก ซาลี หนาย เป็นหนึ่งในนั้น

ทหารอาสาจากพีดีเอฟพยายามชะลอการไล่ล่าของกองทัพด้วยกับระเบิดที่ทำขึ้นเอง วู คง ได้รับบาดเจ็บบริเวณขาจากความพยายามวางระเบิดเหล่านี้ และซาลี หนายอยู่กับเขาเพื่อดูแลอาการ

วิน จวอ ผู้ที่คอยดูแลพยาบาลสาวอยู่กับพวกเขาเช่นเดียวกัน โดยเพื่อนของซาลี หนาย คือ คิน ฮนิน เว ที่กำลังตั้งท้องก็อยู่กับเธอเช่นกัน ในกลุ่มรั้งท้ายนี้ยังมีนักรบหญิง เท อี อี วิน ด้วย

พยานผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ว่าพวกเขากำลังหนีไปทางตะวันตกของหมู่บ้าน แต่หยุดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของวู คง

ขณะที่บรรดาทหารสามารถหลบเลี่ยงระเบิดที่เหล่านักรบวางสกัดกั้นเอาไว้ได้จากสายข่าวของพวกเขา

พวกนั้นจับตัวซาลี หนาย และเพื่อน ๆ ของเธอ มัดมือพวกเขา ร่วมกับผู้ที่ถูกจับกุมตัวได้อีก 9 คน ทหารเหล่านั้นพาพวกเขาเดินทางไปตอนเหนือราวหนึ่งชั่วโมงก่อนไปหยุดที่หมู่บ้านติ๊ด จวี ตอว์

พยานผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ว่าทหารเหล่านี้ถามผู้ถูกจับกุมตัวหลายครั้งว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซีดีเอ็นหรือไม่ ทั้งยังข่มขู่ว่าพวกเขาอาจถูกจับหรือถูกยิง พยานชี้ว่าทหารเหล่านี้เตะต่อยผู้ถูกจับกุมตัว และยังขโมยอาหารและเหล้าจากหมู่บ้านที่ ณ เวลานั้นกลายเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว

แหล่งข่าวจากพีดีเอฟเผยว่า ทหารเหล่านี้เผาบ้านมากกว่า 70 หลัง ส่งให้มีควันขโมงชุดใหญ่ลอยขึ้นเหนือบริเวณดังกล่าว

ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มผู้ถูกจับกุมตัวถูกเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าไปย์ ติ๊ด แก๊ง

ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม 9 คน และบอกให้พวกเขาหนีไปเพื่อรักษาชีวิตตนเอง หนึ่งในผู้รอดชีวิตกล่าวว่า ณ เวลานั้น ผู้ถูกจับกุมที่เหลืออีก 5 คน ยังมีชีวิตอยู่

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับซาลี หนาย และผู้ถูกจับกุมตัวอีก 4 คน ณ ช่วงเวลาหนึ่งในตอนกลางคืน ทั้ง 5 คน ถูกพาตัวไปทางตอนใต้ของหมู่บ้านนั้น และถูกสังหาร

ชาวบ้านจำนวนหนึ่งชี้ว่าพวกเขาได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าร่างของพวกเขาถูกชำแหละและเผาตอนไหนและที่ใด

นักรบพีดีเอฟท้องถิ่นระบุว่า ที่เหล่าทหารเล็งเป้าหมู้บ้านดาน บิน กัน เป็นเพราะที่นั่นขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของกลุ่มต่อต้านกองทัพ และยังมีโรงเรียนที่เปิดสอนโดยนายวิน จวอ

โรงเรียนดังกล่าวเพิ่งเปิดขึ้นในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็มีนักเรียนมากกว่า 250 คนแล้ว ความสำเร็จนี้พิสูจน์ว่ารัฐบาลเงาที่พยายามขึ้นมาปกครองผู้คนในพื้นที่นอกเหนือการดูแลของการทัพสามารถปกครองผู้คนได้จริง

กลุ่มพีดีเอฟเชื่อว่าสายข่าวของกองทัพน่าจะระบุตัววิน จวอ, ซาลี หนาย และคิน ฮนิน เว ว่าเป็นบุคคลสำคัญในหมู่บ้านดาน บิน กัน การสังหารพวกเขาจะถือเป็นการพรากเอากลุ่มผู้นำที่คอยช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

อนุสรณ์

การสังหารครั้งนี้ยังเป็นการพรากเอาพยาบาลสาวอนาคตไกลไปจากประเทศที่ย้อนไปก่อนมีการรัฐประหาร ก็นับว่ามีระบบสาธารณสุขอ่อนแอที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียแล้ว

“ฉันมั่นใจว่าเธอเป็นพยาบาลที่วิเศษ” หนึ่งในอาจารย์ที่สอนออนไลน์ของซาลี หนาย กล่าว “เธอมักจะพยายามอย่างหนักเพื่อทำงานออกมาให้ดี”

“ลองคิดดูนะว่า เธอต้องให้บริการสาธารณสุขกับคนในหมู่บ้านขณะที่พยายามเรียนออนไลน์ไปด้วย แม้ว่าอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร และเธอก็ยังลงเรียนในระดับปริญญาตรีด้วย ภาระงานของเธอมันมากจริง ๆ”

“แม้แต่ฉันเองยังทำทั้งหมดนั้นไม่ได้เลย เธอวิเศษมากจริง ๆ หนึ่งในครูของเธอบอกกับฉันว่าคะแนนสอบของเธอดีมากด้วย”

ซาลี หนาย เพิ่งสอบเทอมแรกเสร็จสองวันก่อนที่เธอจะถูกสังหาร

ณ เวลาที่เขียนอยู่นี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านดาน บิน กัน ยังคงหลบซ่อนกันอยู่ในพื้นที่ป่าทางตะวันตกของหมู่บ้าน

นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ของตัวเอง ทว่าหมู่บ้านอื่น ๆ เผชิญหน้ากับการจู่โจมคล้ายกันนี้หลายต่อหลายครั้ง สิ่งนี้ทำให้ประชากรจำนวนมากต้องพลัดถิ่น ทั้งยังส่งให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปไม่ถึงจากความขัดแย้งและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร

บ้านเรือนจำนวนมากในเมืองมะกเวและทางตอนใต้ของเมืองซะไกง์ถูกกองทัพทำลาย แม้แต่ตอนที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะกลับเข้าพื้นทื่แล้ว พวกเขาก็ยังไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาอยู่ดี

เมื่อปีที่ผ่านมา กองทัพเปิดฉากสงครามสังหารประชาชนนับไม่ถ้วน

เรื่องราวของซาลี หนาย เป็นแค่เรื่องหนึ่งเท่านั้น

เมียนมา กับ เรื่องน่ารู้

  • อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรราว 54 ล้านคน มีพรมแดนติดกับบังกลาเทศ อินเดีย จีน ไทย และ ลาว
  • ถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารตั้งแต่ 1962 – 2011 ขณะนี้ ประชาชนไม่สามารถแสดงออกถึงการต่อต้านได้ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจนนำไปสู่การประณามจากนานาชาติ
  • นางออง ซาน ซู จี ใช้เวลาหลายปีในการสร้างความตระหนักรู้และนำเสนอการปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตย การเคลื่อนตัวสู่ความเป็นเสรีเริ่มต้นอย่างช้า ๆ ในปี 2010 ทว่ากองทัพยังคงครองอิทธิพลอยู่มาก
  • รัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ทว่าการปราบปรามชาวโรฮิงญาสองปีถัดมาทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างเธอและสังคมนานาชาติ
  • เธอยังคงได้รับคะแนนนิยมอย่างมากในเมียนมาและพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งปี 2020 อย่างถล่มทลาย แต่แล้วกองทัพก็เข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว