นักวิทยาศาสตร์ถกเดือด รูโหว่เกิดใหม่ขนาดยักษ์ในชั้นโอโซนเขตร้อน มีอยู่จริงหรือไม่

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ลู่ ชิงบิน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอเทอร์ลูของแคนาดาอ้างว่า เขาได้ค้นพบรูโหว่ในชั้นโอโซนเขตร้อน ซึ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่ารูโหว่เหนือทวีปแอนตาร์กติกาถึง 7 เท่า แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกลับไม่เห็นด้วยกับผลวิจัยนี้

รายงานการค้นพบดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร AIP Advances ของสถาบันฟิสิกส์อเมริกันระบุว่า ศ.ลู่ได้วิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมในอดีตเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศ จนพบว่ามีรูโหว่ขนาดยักษ์ในชั้นโอโซนของเขตร้อน หรือบริเวณละติจูดที่ 30 องศาเหนือ ถึง 30 องศาใต้ของโลก ซึ่งรูโหว่นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ผลวิจัยของ ศ.ลู่ชี้ว่า รูโหว่ชั้นโอโซนที่ค้นพบใหม่นี้แตกต่างจากรูโหว่เหนือทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น แต่รูโหว่ของชั้นโอโซนเขตร้อนกลับคงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และหยั่งลึกลงมาในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ 10-25 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก

“รูโหว่ของชั้นโอโซนเขตร้อนมีขนาดใหญ่ครอบคลุมถึง 50% ของพื้นผิวโลก เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายจากรังสียูวีบี (UV-B) ซึ่งทำลายสุขภาพของประชากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ไปจนถึงส่งผลกระทบต่อการเกษตร รวมทั้งระบบนิเวศทางทะเลด้วย” ศ.ลู่กล่าว

รูปชั้นบรรยากาศหุ้มโลกสีเหลือง

ที่มาของภาพ, Getty Images

งานวิจัยของ ศ.ลู่ยังชี้ว่า แม้ทั่วโลกจะห้ามการใช้สารซีเอฟซี (CFC) ที่เคยเป็นสาเหตุหลักในการทำลายชั้นโอโซนไปแล้วก็ตาม แต่รูโหว่ใหม่ในชั้นโอโซนเขตร้อนก็ยังเกิดขึ้นได้ จากปัจจัยหลักคือความรุนแรงของรังสีคอสมิกในอวกาศ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์เหนือเขตร้อนมีอุณหภูมิต่ำลง ยังทำให้รูโหว่เกิดใหม่นี้มีสภาพคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของชั้นบรรยากาศโลกหลายคน ต่างออกมาแสดงความเห็นคัดค้านต่อผลการค้นพบของ ศ.ลู่ โดยชี้ว่าเขาสร้างแนวคิดเกี่ยวกับรูโหว่ในชั้นโอโซนเขตร้อนขึ้นมาได้ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ใช้นิยามดั้งเดิมของวงการดาราศาสตร์ ที่กำหนดว่ารูโหว่ชั้นโอโซนนั้นคือพื้นที่ซึ่งมีระดับความเข้มข้นของก๊าซโอโซน (O3) ต่ำกว่า 220 หน่วยด็อบสัน (Dobson unit – DU)

รูปชั้นบรรยากาศมีดวงอาทิตย์ขึ้น

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

หากใช้นิยามดั้งเดิมดังข้างต้นแล้ว รูโหว่ในชั้นโอโซนเขตร้อนจะไม่มีอยู่จริง แม้ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาชั้นโอโซนในแถบนี้ถูกกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน พัดพาให้มันกระจายตัวออกและเบาบางลงเรื่อย ๆ ก็ตาม

ศ.ลู่ยืนยันว่า เกณฑ์ใหม่ที่เขาใช้ตัดสินว่ามีรูโหว่ของชั้นโอโซนในเขตร้อนนั้นถูกต้อง เนื่องจากเป็นเกณฑ์เดียวกับที่ใช้นิยามรูโหว่ในชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งนิยามดังกล่าวถือว่าบริเวณที่มีการสูญเสียโอโซนเกินกว่า 25% เมื่อเทียบกับภาวะปกติ จัดว่าเป็นรูโหว่ในชั้นโอโซนได้

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาประเด็นเดียวกันยังคงไม่เห็นด้วยกับ ศ.ลู่ โดยชี้ว่าเขาใช้ข้อมูลเก่าจากช่วงทศวรรษ 1960 มาวิเคราะห์ ซึ่งเทคโนโลยีในยุคนั้นยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานยืนยันได้เพียงพอ ทั้งยังละเลยที่จะพิจารณาข้อมูลจากการวิจัยสมัยใหม่ร่วมด้วย ซึ่งงานวิจัยล่าสุดจำนวนมากปฏิเสธการมีอยู่ของรูโหว่ในชั้นโอโซนเขตร้อน

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว