ย้อนฟังคำพูด “พี่ตูน” เมื่อปีที่แล้ว หลังวิ่งกรุงเทพ-บางสะพาน “อยากทำแบบนี้ตลอดชีวิต”

Music Talk by ท้องฟ้าสีเทา

Music Talk ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้พูดเรื่องดนตรีหรือศิลปินนักร้องในแง่ผลงานเพลง แต่เปลี่ยนมาพูดถึงตัวบุคคล ก็คือ พี่ตูน บอดี้สแลม ร็อกสตาร์มหาชนที่กำลังวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลอยู่ขณะนี้

ก่อนที่ ตูน บอดี้สแลม หรือ “พี่ตูน” จะออกวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา-อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อระดมเงินบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งในครั้งนี้ เมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว พี่ตูนเริ่มโครงการวิ่งระดมเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาลครั้งแรก ในชื่อโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ซึ่งระดมเงินได้ 63 ล้านบาท ณ เวลาเข้าเส้นชัย แต่ยอดบริจาคไปจนถึงวันปิดรับบริจาคประมาณ 85 ล้านบาท ซึ่งในตอนนั้นระยะทางการวิ่ง 400 กิโลเมตร

จำได้ว่าเมื่อจบโครงการก้าวคนละก้าวปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 พี่ตูนและทีมงานได้เปิดเวทีพูดคุยถึงประสบการณ์ “ก้าวคนละก้าว” และพูดถึงก้าวต่อไป นั่นเป็นครั้งแรกที่พี่ตูนเปิดใจว่า เขายังไม่หยุดเพียงแค่ก้าวที่ผ่านมา แต่ยังอยากจะก้าวไปต่อ

Music Talk ครั้งนี้ ตั้งใจจะไม่ทอล์ก แต่จะเอาคำพูดของพี่ตูนมาให้ได้อ่านกัน ให้ได้เห็นความคิด ความตั้งใจของผู้ชายคนนี้

ตอนนั้นพี่ตูนบอกถึงความตั้งใจในการทำโครงการก้าวคนละก้าวว่า นอกจากเป้าหมายหลักคือการระดมทุนบริจาคเพื่อมอบให้โรงพยาบาลบางสะพานซื้ออุปกรณ์การแพทย์แล้ว เขาอยากให้ทุกคนเห็นถึงพลังเล็ก ๆ ที่รวมกันเป็นพลังที่ใหญ่ขึ้น

“อยากให้ทุกคนได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจของเงินจำนวนไม่มาก แต่ใช้จำนวนคนมาก ๆ เอาจำนวนคนเป็นตัวตั้ง ผมดีใจมากที่เงินจำนวนไม่มากของพวกเรา พอมันรวมกันได้ 79 ล้าน มันรวมกันได้จริง ๆ ช่วยโรงพยาบาล ช่วยชีวิตคนได้จริง ๆ ทำให้โรงพยาบาลหนึ่งโรงพยาบาลดีขึ้นได้จริง ๆ

เรารู้สึกดีมากที่ภาพแรกที่เราตั้งใจ … จากที่เราไปเห็นป้ายบริจาคตามโรงพยาบาลแล้วมันบันดาลใจเรา ในป้ายรับบริจาคตามโรงพยาบาลก็จะมี นายก อบจ. 5 ล้าน คุณหญิง 2 ล้าน ไล่เรื่อยลงมาจนหลักหมื่น ทำให้ผมคิดว่า แล้วคนอย่างเราที่มีเงินไม่เยอะ จะทำได้ไหม นั่นแหละผมว่าตรงนี้เป็นการเปิดช่องให้เรา…”

เมื่อพิธีกรบนเวทีถามถึงความประทับใจ พี่ตูนตอบด้วยน้ำเสียงนุ่ม ๆ จังหวะเนิบ ๆ ในแบบของเขาว่า

“ผมประทับใจทุกอย่าง เพราะมันเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ มันไม่เคยมีใครทำแบบนี้ให้เราเห็น ไม่เคยมีใครทำให้เห็นว่าพอออกไปวิ่งแล้วจะมีภาพอะไรบ้าง จะมีคุณยายมาให้สตางค์ มีเด็กน้อยเอากระปุกออมสินมาให้ทั้งกระปุก มีคนตะโกนมาจากข้างทางว่าขอบคุณที่ช่วยโรงพยาบาลผม ผมเกิดมาจากที่นั่นแล้วก็มากอดเรา

ตอนที่เราเริ่มทำโครงการนี้ เราไม่ได้มีภาพแบบนี้เลย เรารู้สึกว่ามันใหม่ทุกวัน มันดีมาก ผมก็แอบน้ำตาซึมในหลายช่วงเวลา เศรษฐีบางคนจะเอาเงินมาบริจาค ไม่อยากให้เราไปที่บ้านเขา กลัวเราเหนื่อย เขาก็ขับรถเอามาให้เราที่โรงแรม แล้วก็ถ่ายรูปรูปเดียวแล้วก็ไปเลย บอกเราว่าไปพักเหอะ มันมีแบบนี้ด้วยหรอ มันมีแต่เรื่องดี ๆ เกินความคาดหมาย มันมีแต่เรื่องสวยงามเกิดขึ้นไปหมด” พี่ตูนเล่า

“ไม่รู้จะบอกอะไรเป็นคำพูดได้ แต่อยากทำแบบนี้ตลอดชีวิต” พอเขาพูดประโยคนี้ หลายคนทำหน้าตกใจ

แล้วพี่ตูนก็อธิบายขยายความคิดในหัวของเขาให้ทุกคนฟัง

“อยากช่วยให้โรงพยาบาลดีขึ้นจริง ๆ ใครมองว่าไม่ขาดเราไม่รู้ แต่เรามองว่ามันไม่พอ เรามองด้วยสามัญสำนึกของประชาชนคนธรรมดาที่ไปอยู่ตรงนั้น เรามองว่ามันไม่พร้อม เราอยากทำตรงนี้ตลอดชีวิตให้มันเห็นเป็นรูปธรรมความเปลี่ยนแปลง ถ้าใครเห็นด้วยกับเรา เราก็จะขอทำแบบนี้ ขอทำในส่วนเล็ก ๆ ที่เราทำได้แบบนี้ต่อไป อยากเอาเงิน 5 บาท 10 บาทของพวกเรามารวมกันแบบนี้ต่อไป เพื่อนำเงินไปมอบให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ขาดแคลน ค่อย ๆ ทำ 3 เดือนครั้ง หรือถ้ามีกำลังมากหน่อยเดือนละครั้ง ไม่ได้หมายถึงวิ่งทางไกลนะครับ คือผมอยากจะทำง่าย ๆ เร็ว ๆ ตอนนี้คิดเป็นกระปุกออมสิน คือได้แรงบันดาลใจจากกระปุกออมสินที่น้องเขาเอามาให้

“มันจะดีไหมถ้าในแต่ละเดือนมีคนมาหยอดกระปุกออมสินนี้คนละ 5 บาท 10 บาททุกเดือน เดือนละครั้ง สมมุติมีคนเห็นด้วยกับผมล้านคน สมมุติคนละสิบบาท ก็ได้เงินเดือนละ 10 ล้านบาท โรงพยาบาลไหนขาดแคลนจริง ๆ เรายก 10 ล้านไปให้เขาจัดการเร่งด่วนเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือ

“จากเงิน 10 บาท ถ้าเรากระจายความเชื่อนี้ กระจายความคิดแบบนี้ แล้วคนเห็นด้วยกับเราไปเยอะ ๆ บางทีมันอาจจะมากกว่าล้านคนก็ได้ ถ้า 10 ล้านคน คนละ 10 บาทเหมือนเดิม เราก็จะได้เงิน 100 ล้าน เอาไปทำอะไรกับโรงพยาบาลที่เขาขาดแคลนทั่วประเทศได้เยอะ และสุดท้ายคุณภาพชีวิตของญาติพี่น้องเราที่อยู่ต่างจังหวัดนั่นแหละจะดีขึ้น ไม่มีใครมีปัญญาไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชนได้ทุกคนหรอกครับ ยังไงก็แล้วแต่ ญาติพี่น้องผมเองก็ตามที่อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องไปพึ่งโรงพยาบาลรัฐบาล

“ผมไม่อยากเห็นภาพที่สุดท้ายแล้วมากองรวมกันที่ศิริราช มาแออัดตรงนี้หมด จะดีกว่าไหม ถ้าในแต่ละจังหวัดหรือในหัวเมืองใหญ่ ๆ มีโรงพยาบาลรัฐที่สามารถรับผิดชอบชีวิตของคนตรงนั้นได้ มันจะดีกว่าไหมถ้าหัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งที่จะตาย แล้วเขาไม่ตายด้วยเครื่องมือบางอันที่เราหาไปให้ แล้วเขาได้ไปต่อชีวิต ได้ไปเลี้ยงลูกของเขาอีกสามคนให้มีคุณภาพขึ้นมาเป็นคนที่ดีในสังคม แค่เครื่องมือเครื่องเดียวที่ขาดตอนนั้น

“หรือคิดในมุมเห็นแก่ตัวที่สุด วันหนึ่งเราอาจจะไปอยู่จังหวัดห่างไกล เราอาจจะป่วย เราอาจจะประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินต้องการเครื่องอะไรสักเครื่องช่วยชีวิต แต่ตรงนั้นไม่มี เราอาจจะต้องการมันเองก็ได้”

นอกจากนั้นซูเปอร์สตาร์ขวัญใจมหาชนบอกอีกวัตถุประสงค์ของโครงการก้าวฯ ว่า

“ผมอยากให้โครงการก้าวเป็นโครงการบูรณาการ ไม่ใช่การหาเงินบริจาคไปสนับสนุนโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอย่างเดียว เราอยากจะเริ่มต้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองอย่างถูกวิธี มันจะป้องกันการที่คนจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาได้ ถ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ไปสร้างสิ่งดี ๆ ได้เพิ่มเติมมากขึ้น ผมก็คิดว่าอยากจะออกก้าวเล็ก ๆ แบบนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากจะออกไปก้าวต่างจังหวัดบ้าง ถ้ามีใครสนใจให้เราไปวิ่งในสวนสาธารณะ ไปนั่งคุยกับคุณหมอ ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการวิ่ง หรืออาจจะเชิญนักวิ่งไปพูด สร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้บ้าง”

นั่นคือความคิดและตั้งใจของผู้ชายชื่อ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม คนที่ใคร ๆ ก็ยอมรับนับถือหัวใจของเขา คนที่คิดอะไรแล้วลงมือทำเสมอ คนที่ทำอะไรก็ “ทุ่มสุดตัว” เหมือนความหมายชื่อวงดนตรีของเขา