อินโดนีเซีย : งูเหลือมยักษ์เขมือบผู้หญิงทั้งตัวได้อย่างไร

ชาวบ้านเล่าว่า งูเหลือมตัวหนึ่งได้สังหารผู้หญิงคนหนึ่งในจังหวัดจัมบีของอินโดนีเซีย และกลืนกินเธอเข้าไปทั้งตัว แต่งูกินมนุษย์เข้าไปทั้งตัวได้อย่างไร

จาห์ราห์ ซึ่งตามรายงานระบุว่ามีอายุราว 50 ปี ถูกงูเหลือมจู่โจม ขณะที่เธอออกไปทำงานในสวนยางพาราช่วงเช้าวันอาทิตย์

เธอได้หายตัวไป และในวันต่อมา ชาวบ้านได้พบงูเหลือมตัวหนึ่งที่มีท้องขยายใหญ่อย่างมาก พวกเขาจึงได้ฆ่ามันและพบร่างของเธออยู่ในตัวงู

“เหยื่อถูกพบในท้องงู” เอเคพี เอส ฮาเรฟา ผู้บัญชาการตำรวจเมืองเบตารา จัมบี กล่าวกับสื่อท้องถิ่นหลายแห่ง

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ศพของเธอดูเหมือนจะสมบูรณ์ดีในตอนที่ถูกพบ บรรดาชาวบ้านเล่าว่า งูตัวดังกล่าวมีขนาดยาวอย่างน้อย 5 เมตร

แม้ว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยาก แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุงูเขมือบคนทั้งตัวมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2017 และ 2018

งูเหลือมโจมตีอย่างไร

ปกติแล้ว งูเหลือมมักจะเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

เชื่อว่า งูขนาดใหญ่ที่สังหารคนในอินโดนีเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต่างเป็นงูเหลือม

พวกมันอาจมีความยาวได้มากกว่า 10 เมตร และมีพละกำลังมหาศาล

พวกมันซุ่มโจมตีเหยื่อ พันตัวเองรอบตัวเหยื่อและบีบรัดเหยื่อ โดยจะรัดแน่นขึ้นขณะที่เหยื่อหายใจออก

พวกมันสังหารเหยื่อด้วยการทำให้ขาดอากาศหายใจ หรือ ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นภายในเวลาไม่กี่นาที

งูเหลือมกลืนกินอาหารของพวกมันทั้งตัว ขากรรไกรของพวกมันเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นที่มีความยืดหยุ่นมาก ดังนั้นพวกมันจึงสามารถอ้าขากรรไกรงับเหยื่อขนาดใหญ่ได้

แมรี-รูธ โลว์ เจ้าหน้าที่วิจัยและการอนุรักษ์ขององค์กร Wildlife Reserves Singapore และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงูเหลือม กล่าวกับบีบีซีในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตอนที่มันกินคน ปัจจัยที่จะเป็นอุปสรรคต่องูก็คือ “กระดูกช่วงไหล่ของมนุษย์ เพราะกระดูกส่วนนี้ไม่ยุบตัว”

พวกมันกินสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ชนิดอื่นไหม

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในอินโดนีเซียกำลังจับปลาไหลในภาพนี้ในปี 2018 แต่พวกเขากลับได้งูเหลือมยาว 8 เมตรมาแทน โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ที่มาของภาพ, RONAL EFENDI COTO/AFP via Getty Images

“งูเหลือมแทบจะเป็นสัตว์ที่กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงอย่างเดียว” นางโลว์ ระบุ แต่บางโอกาส พวกมันก็กินสัตว์เลื้อยคล้ายรวมถึงจระเข้ด้วย

เธอกล่าวว่า ปกติแล้ว พวกมันกินหนูและสัตว์ที่มีขนาดเล็กอื่น ๆ “แต่เมื่อมันโตถึงขนาดหนึ่ง มันก็แทบที่จะไม่สนใจหนูอีกต่อไป เพราะได้พลังงานไม่คุ้มค่า”

“พวกมันอาจมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับเหยื่อของมันได้”

นั่นรวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจมีขนาดใหญ่เท่ากับหมูหรือแม้แต่วัวก็ได้

บางครั้งพวกมันก็ประเมินขนาดมื้ออาหารผิดไป ในปี 2005 งูเหลือมพม่าพยายามที่จะเขมือบจระเข้ตีนเป็ด หรือ แอลลิเกเตอร์ทั้งตัวในรัฐฟลอริดา จนทำให้ตัวมันแตกออกและทั้งงูและจระเข้ตีนเป็ดก็ตายทั้งคู่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานได้พบร่างพวกมันในเวลาต่อมา

แต่นักล่าฉวยโอกาสเหล่านี้ก็เลือกเหยื่ออย่างมากเช่นกัน ถ้าพวกมันไม่เห็นเหยื่อที่เหมาะสม พวกมันอาจรอคอยเป็นเวลานานโดยแทบไม่ต้องกินอาหารมากนัก จนกว่าพวกมันจะพบเห็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่พอ

นี่เป็นครั้งแรกที่งูเหลือมกินคนหรือไม่

ไม่ใช่ ในอินโดนีเซียเคยเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้มาแล้ว 2 ครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2018 ผู้หญิงคนหนึ่งหายตัวไป ขณะที่ออกไปดูแปลงผักในจังหวัดสุลาเวสี

วันต่อมามีคนพบรองเท้าแตะและมีดพร้าของเธอ และงูเหลือมยักษ์ที่มีท้องขยายใหญ่กำลังนอนอยู่ห่างออกไป 30 เมตร

“ชาวบ้านสงสัยว่า งูได้เขมือบเหยื่อรายนี้ พวกเขาจึงฆ่ามัน จากนั้นก็นำมันออกไปจากสวนผัก” ฮัมกา ผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

“มีการผ่าท้องของงูให้เปิดออก และก็พบร่างของเหยื่ออยู่ในนั้น”

และในปี 2002 มีรายงานว่า งูเหลือมหินในแอฟริกาใต้ได้เขมือบเด็กชายวัย 10 ขวบคนหนึ่ง

และในเดือน มี.ค. 2017 งูเหลือมขนาดยาว 7 เมตรในสุลาเวสีของอินโดนีเซียได้เขมือบชาวนาคนหนึ่ง

Getty Images

ในปีเดียวกันนั้น ชายคนหนึ่งจากจังหวัดสุมาตราของอินโดนีเซียสามารถต่อสู้กับงูเหลือมขนาดยาว 7.8 เมตร ที่จู่โจมเขาขณะที่เขาอยู่ในสวนปาล์มน้ำมัน เขารอดชีวิตมาได้ โดยได้รับบาดเจ็บสาหัส

ข้อกล่าวอ้างก่อนหน้านี้หลายข้อมักเป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ยาก ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งก่อนที่จะมีการแจ้งเหตุ ในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์ที่น่าเชื่อถือ

โทมัส เฮดแลนด์ นักมานุษยวิทยา ที่ใช้เวลาคลุกคลีกับชาวอักตา กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตกับการล่าสัตว์และหาของป่าในฟิลิปปินส์ มานานหลายสิบปี เคยอ้างว่า หนึ่งในสี่ของผู้ชายชนเผ่านี้ เคยถูกงูเหลือมโจมตี

งานวิจัยของเขาระบุว่า แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาสามารถที่จะใช้มีดพร้าป้องกันตัวได้ แต่ชาวอักตาในวัยผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างเล็กก็ถูกงูกินบ้างเป็นครั้งคราว

เนีย คูร์เนียวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านงูจากมหาวิทยาลัยบราวิจายา ของอินโดนีเซีย เคยกล่าวกับบีบีซีภาคภาษาอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ว่า งูเหลือมอ่อนไหวต่อการสั่นสะเทือน เสียงรบกวน และความร้อนจากไฟ ดังนั้นปกติแล้วพวกมันจะหลีกเลี่ยงบริเวณที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่

…….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว