แจกคูปอง 3 หมื่นช่วย SMEs “สมคิด” นัดถกแบงก์บี้ลดดอกเบี้ย

รัฐบาลแท็กทีมเข็น 3 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี ใช้แบงก์รัฐแบกความเสี่ยงแทน “แจกคูปองเอสเอ็มอี” รายละ 3 หมื่นบาท เพื่อซื้อป้องกันค่าเงิน “สมคิด” นัดถกสมาคมธนาคารไทย 27 ก.ค.นี้ บี้ลดดอกเบี้ยแลก บสย.รับความเสี่ยงค้ำประกันเพิ่ม

คลอด 3 แพ็กเกจอุ้ม SMEs

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้เตรียมแพ็กเกจไว้ประมาณ 3-4 มาตรการ ซึ่งจะมีการประกาศออกมาภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ มาตรการที่ช่วยเอสเอ็มอีจะมีลักษณะที่ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เข้าไปรับความเสี่ยงแทนเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วยมาตรการแรก การค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี โดยใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะปรับจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ที่ยังมีวงเงินเหลือมากถึง 83,000 ล้านบาท

โดยจะมีการยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน เพื่อจูงใจเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ พร้อมเพิ่มความรับผิดชอบหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการค้ำประกัน (Max Claim) จากเดิม 23.75% เป็น 30% อีกด้วย โดยวงเงินค้ำประกันน่าจะยังคงไว้ที่ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายเท่าเดิม ซึ่งเอสเอ็มอีที่มีสิทธิ์เข้าโครงการต้องมีสินทรัพย์ถาวรรวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และต้องไม่มีบัญชีสินเชื่อในรอบ 6 เดือนย้อนหลังที่ค้างชำระโดยเด็ดขาด ทั้งต้องไม่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้เอสเอ็มอีเหล่านี้ต้องผ่านโครงการอบรมของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก่อน เพื่อให้ความรู้ควบคู่กับเงินกู้

Advertisment

“เดิม รมว.คลังต้องการให้ บสย.ลดวงเงินค้ำประกันให้แก่เอสเอ็มอี ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เนื่องจากเกรงว่าถ้ากำหนดที่ 40 ล้านบาทเหมือนเดิม จะถูกมองว่าช่วยเอสเอ็มอีรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายสมคิดอยากให้คงไว้ที่ไม่เกิน 40 ล้านบาทเช่นเดิม เนื่องจากที่ผ่านมา การค้ำประกันของ บสย. เฉลี่ยไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อรายอยู่แล้ว แม้ว่าจะกำหนดเพดานไว้ถึง 40 ล้านบาทก็ตาม ดังนั้นจึงเปิดกว้างไว้ให้สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ครอบคลุมมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

แจกคูปองช่วยเอสเอ็มอี 3 หมื่นบาท

ส่วนมาตรการที่ 2 เป็นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านกลไกธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ที่จะมีทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการช่วยเหลือค่าพรีเมี่ยม (Premium) ในการที่ผู้ประกอบการซื้อออปชั่น (Option) จากธนาคารพาณิชย์ และ ธสน. โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่มีวงเงินอยู่ 20,000 ล้านบาท ของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมาตรการนี้มีเป้าหมายช่วยผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท ประมาณ 5,000 ราย

“การช่วยเหลือเรื่องค่าเงินนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สะดวกที่จะใช้วิธีการทำพุตออปชั่น (Put Options) ตามแนวทางที่ รมว.คลังต้องการ แต่จะให้ใช้วิธีการอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเอสเอ็มอีที่ผ่านเกณฑ์อบรมแล้วจะได้รับคูปอง รายละไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับนำไปใช้ซื้อออปชั่นจากธนาคารพาณิชย์ หรือเอ็กซิมแบงก์” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisment

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการที่ 3 จะเป็นมาตรการสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งจะให้เอสเอ็มอีกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ที่อาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแค่ 1% ต่อปี

ขณะที่นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนที่เป็นมาตรการสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ จะเน้นช่วยเหลือยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางกลุ่ม แต่รายละเอียดยังอยู่ระหว่างเตรียมการ น่าจะบอกได้ชัดเจนในช่วงปลายสัปดาห์นี้

บี้แบงก์ลด ดบ.แลกเพิ่มค้ำประกัน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกล่าวว่า เดิมจะมีการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ รมว.คลัง และ รมว.อุตสาหกรรมได้คุยกันแล้ว เห็นว่าเมื่อปรับ Max Claim เป็น 30% ซึ่งมีผลกับงบประมาณที่ต้องอุดหนุนมากขึ้นแล้ว ควรให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมรับภาระด้วย โดยการลดดอกเบี้ยให้แก่เอสเอ็มอี ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง

“รองนายกฯสมคิดจะเชิญสมาคมธนาคารไทย พูดคุยเรื่องการลดดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอีตามแนวทางนี้อีกครั้งในวันที่ 27 ก.ค.นี้” แหล่งข่าวกล่าว

ธปท.รับบาทแข็งเร็ว-เตือนป้องกันเสี่ยง

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 7% จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมายังมีเงินลงทุนโดยตรงของภาคธุรกิจที่ไหลเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม แม้ในภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาทจะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาค แต่ระยะหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สะท้อนปฏิกิริยาของตลาดที่อ่อนไหวกับความผันผวนในระยะสั้นที่มากเกินไป โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

“ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง” นายเมธีกล่าว